ทิศทางอสังหาริมทรัพย์ ปี59

20 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2558 ที่ผ่านมาปิดท้ายปี สดใสมาก หลังรัฐบาลอัดมาตรการกระตุ้น ด้วยการสนับสนุนเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และ ลดค่าธรรมเนียมโอนจาก และจดจำนอง (สิ้นสุด 30 เม.ย.58) วงการคาดว่าตลาดเติบโตจากปี 2557 ราว 15 % มูลค่าตลาดรวม 3.4 แสนล้านบาท กล่าวสำหรับแนวโน้มปี 2559 ผู้ประกอบการมองว่าตลาดคงเติบโตต่อเนื่องด้วยปัจจัยหนุนหลายๆด้านซึ่งจะกล่าวถึงในตอนท้าย

สำหรับภาพรวมอสังหาฯปี 2558 ถือว่า ผันผวน เริ่มไตรมาสแรกตลาดซึมจากภาวะการเมืองและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะสต๊อกล้นจากการแข่งขันผลิตคอนโดมิเนียมเข้าตลาดในช่วง 2 ปีก่อนหน้า และถูกซ้ำเติมจาก สถานการณ์ปฏิเสธสินเชื่อ ประมาณว่า คำขอเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยไม่ผ่านการพิจารณาจากระบบธนาคารมากกว่า 30 % เมื่อเข้าไตรมาส 2ผู้ประกอบการ แก้เกมด้วยการ อัดโปรโมชันชนิดเข้มข้นอาทิ อยู่ฟรี1- 2 ปี ดอกเบี้ย 0 % ปีแรก ส่วนลดเงินสด เป็นต้น เพื่อเร่งการตัดสินใจผู้ซื้อแต่สภาวะตลาดยังทรงเริ่มมีผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯประกาศชะลอโครงการคอนโดมิเนียมออกไป

ในช่วงไตรมาส 3 ตลาดชะงักชั่วขณะหลังมีข่าวรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ก่อนสถานการณ์คลี่คลายเมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี (2558) หลังมาตรการกระตุ้นอสังหาฯซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการเงินและการคลังมีผลบังคับใช้ (19 ต.ค.58 ) ทั้งนี้ในปี 2558 แม้ภาพรวมตลาดทรงๆซึมแต่ตลาดคอนโดมิเนียมลักชัวรีและซูเปอร์ลักชัวรี (ราคามากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตร) เฟื่องฟูมากจนมีการกล่าวว่า อสังหาฯปี 2558 สินค้าระดับบนเป็นตัวนำตลาด ด้านผลประกอบการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซียพลัสฯ สรุปผลประกอบการ 15 บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯรอบ 9 เดือนว่า ยอดขาย 9 เดือน 15 บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 1.81 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปี 2557 อยู่ที่ 1.65 แสนล้านบาท และประเมินว่า (15บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ) รายได้ปี 2558 ไม่ลดลงเนื่องจากมี แบ็กล็อก หรือ สินค้ารอโอนจำนวนมาก

ส่วนแนวโน้มปี 2559 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อว่าตลาดยังขยายตัวต่อเนื่องคาดว่าตลาดจะขยายตัวไม่น้อยกว่า 5 % จากปีก่อนหน้า โดยปัจจัยบวกเด่นที่สุดคือ มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ในส่วนลดค่าธรรมเนียมโอน และจดจำนอง (สิ้นสุด เม.ย.59) ประเมินกันว่าในช่วง 4 เดือนแรกผู้ประกอบการจะสาดโปรโมชันอย่างเข้มข้นเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจผู้ซื้อก่อนมาตรการกระตุ้นอสังหาฯจะสิ้นสุดลง

ด้านทิศทางตลาด จะถูกนำด้วยแนวโน้มหลัก 2 ด้าน ด้านหนึ่ง สินค้าแนวราบ ผู้ประกอบการหลายรายหันมาเพิ่มสัดส่วนพัฒนาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์มากขึ้นเนื่องจากตลาดคอนโดมิเนียม อิ่มตัวจากสินค้าค้างสต๊อกในตลาดและการหายไปของตลาดเก็งกำไร อย่างไรก็ดี บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ฯประเมินว่า ปีนี้จะคอนโดมิเนียมใหม่เข้าตลาดราว 60,000-65,000 หน่วย แม้ปริมาณใกล้เคียงปีที่ผ่านมาแต่มูลค่าเพิ่มขึ้น และแนวโน้มที่ 2 คือ คอนโดมิเนียมระดับบนแนวรถไฟฟ้าโซนสุขุมวิทยังแรงต่อเนื่อง ล่าสุด บมจ.แลนด์แอนด์ เฮ้าส์ บมจ.แสนสิริ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ฯลฯเตรียมเปิดโครงการ แถวถนนสุขุมวิทโซนกลางระดับราคา 200,000-500,000 บาทต่อตารางเมตร

อย่างไรก็ดีปัจจัยท้าทาย สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ คือหลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นอสังหาฯแล้วตลาดจะรักษาอัตราเติบโตได้ต่อเนื่องหรือไม่ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนเช่นนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559