‘วุฒิชาติ กัลยาณมิตร’ วัดฝีมือบริหารร.ฟ.ท.ช่วงเปลี่ยนผ่าน

17 ม.ค. 2559 | 07:00 น.
นับตั้งแต่การเข้ามารับตำแหน่งของผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เรืองอำนาจนี้ ดูเหมือนว่า “นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร” ผู้ว่าร.ฟ.ท. ถูกจับตามองว่าจะสามารถขับเคลื่อนองค์กรที่ก่อตั้งมากว่า 115 นี้ไปได้ดีมากน้อยเพียงใด เพราะส่วนหนึ่งนั้นจากฝีมือการนำพาบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.)ไปสู่บริษัทที่มีรายได้ที่ดีอย่างต่อเนื่องทุกปี จนเป็นที่ยอมรับในประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการองค์กร

วันนี้ในบทบาทของผู้ว่าร.ฟ.ท. เสมือนว่า “นายวุฒิชาติ” จะพยายามเข้าไปแก้ปมปัญหาต่างๆของร.ฟ.ท.ที่หมักหมมมานาน ด้วยการเร่งผลักดันโครงการต่างๆให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับบริการบนรถไฟเส้นทางต่างๆ การเร่งแก้ไขปัญหากรณีรถตกราง หรือแม้กระทั่งเรื่องการขาดแคลนขบวนรถ ตลอดจนเร่งประมูลก่อสร้างเส้นทางต่างๆรวมงบประมาณหลักแสนล้านบาทที่ร.ฟ.ท.รับผิดชอบ

 ม.ค.59 ลุ้นรถไฟทางคู่ 2 เส้นผ่านอีไอเอ

ทั้งนี้นายวุฒิชาติ เปิดโอกาสให้ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ถึงแนวทางการขับเคลื่อนองค์กร ร.ฟ.ท.นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งว่า ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2558 ร.ฟ.ท.ได้เซ็นสัญญากับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เพื่อเริ่มก่อสร้างรถไฟทางคู่ไปแล้ว 2 เส้นทาง คือ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท และเส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น วงเงินกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนั้นยังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีก 1 เส้นทางคือ เส้นทางประจวบคีรีขันธ์ –ชุมพร วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านการรับรองการายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)เรียบร้อยแล้ว รอเพียงนำเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการเท่านั้น ก็จะเปิดประมูลได้ทันที ซึ่งทีโออาร์โครงการดังกล่าวเตรียมไว้พร้อมแล้ว

นอกจากนี้วันที่ 29 มกราคมนี้จะนำเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท และเส้นทางนครปฐม-หัวหิน วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.)ต่อไป

“ขณะนี้อีก 2-3 เส้นทางที่เหลือของรถไฟทางคู่ จะเห็นภาพชัดเจนที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการเปิดประมูลได้มากขึ้น ซึ่งเส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะนำเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการ และอีก 2 เส้นทางที่จะผ่านการรับรองระดับ คชก.คือเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ และนครปฐม-หัวหิน นั้นขณะนี้ทีโออาร์มาตรฐานก็เตรียมพร้อมรองรับไว้แล้ว หากขั้นตอนผ่านทั้งหมดก็สามารถเสนอเปิดประมูลได้ทันที”

 เร่งประมูลจัดซื้อและเช่าหัวรถจักร

หลังจากที่ได้จัดซื้อ 20 หัวรถจักรใช้งานไปแล้วในช่วงปีที่ผ่านมานั้น วันที่ 27 มกราคม 2559 นี้ผู้ซื้อเอกสารประกวดราคาโครงการจัดซื้อ 50 หัวรถจักรวงเงินกว่า 5 พันล้านบาท ทั้ง 14 รายก็จะทยอยยื่นเอกสารประกวดราคา ก่อนที่จะเร่งพิจารณาคุณสมบัติ ด้านเทคนิค และด้านราคา ให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมและครม.อนุมัติเซ็นสัญญากับผู้ผ่านการพิจารณาและตรงตามคุณสมบัติต่อไป โดยทั้ง 50 หัวรถจักร ร.ฟ.ท.จะนำไปใช้ลากรถขบวนสินค้า รถโดยสารในเส้นทางต่างๆต่อไป

นอกจากนั้นร.ฟ.ท.ยังมีแผนเช่า 20 หัวรถจักรวงเงินหัวละประมาณ 120-150 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้งานทดแทนหัวรถจักรที่ใช้งานมานาน มีสภาพเก่าให้สามารถขนส่งสินค้าได้มากขึ้น เช่นเดียวกับเดือนมิถุนายน 2559 นี้ จะทยอยรับ 115 ขบวนรถโดยสารที่จะนำมายกระดับการบริการภายหลังจากที่เซ็นสัญญาไปตั้งแต่ปี 2557

 รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่นคาดประมูลกลางปีนี้

เป็นอีกหนึ่งผลงานใน 2 โครงการที่ร.ฟ.ท.ภายใต้การบริหารงานของนายวุฒิชาติได้เข้าไปมีส่วนร่วมวางกรอบโครงการ เพื่อให้แต่ละเส้นทางเกิดประสิทธิภาพต่อวงการรถไฟไทย โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวจากจีนไปสู่พื้นที่ต่างๆ เช่นเดียวกับรถไฟไทย-ญี่ปุ่นที่มุ่งเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเมียนมาไปสู่แหลมฉบัง และท่าเรือสีหนุวิลล์ของเวียดนามที่เป็นการเปิดประตูทางการค้าของไทยผ่านชายแดนสู่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีร.ฟ.ท.เข้าไปมีบทบาทด้วย

โดยการประชุมร่วมไทย-จีนครั้งที่ 10 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นี้จะได้เห็นภาพการขับเคลื่อนโครงการมากขึ้นหลังจากที่ได้มีการเปิดตัวสัญลักษณ์โครงการไปเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ สถานีเชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งการประชุมครั้งที่ 10 นั้นจะได้เห็นภาพมูลค่าโครงการโดยรวมของแต่ละช่วง เพื่อนำไปคิดราคาในภาพรวมทั้งโครงการ และนำไปสู่ขั้นตอนการเจรจากู้เงินมาพัฒนาโครงการได้อย่างชัดเจนต่อไป

“เบื้องต้นนั้นตัวเลขอัตราดอกเบี้ยเจรจากันลงตัวที่ 2% แต่เมื่อรวมค่าธรรมเนียมต่างๆเข้าไปด้วยแล้วก็จะเกินจาก 2% แต่ไม่เกิน 5% ซึ่งฝ่ายไทยพอใจ ขณะนี้รอเพียงผลการสรุปด้านการออกแบบรายละเอียดแต่ละตอนเท่านั้นก็จะสามารถเริ่มต้นงานก่อสร้างได้ตามแผนช่วงปลายปีนี้"

ดังนั้นภายใต้แรงกดดันด้านระยะเวลาและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลมุ่งหวังจะให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วนั้น ร.ฟ.ท.ที่มี “วุฒิชาติ” ทำหน้าที่ผู้นำองค์กรจะสามารถทำได้ดีหรือสำเร็จตามเป้าหมายได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะ 1 ปีที่ผ่านมายังถือว่าเป็นเพียงการเริ่มต้นวางรากฐานเท่านั้น แต่ยังรอการต่อยอดโครงการอีกนับไม่ถ้วนสำหรับปี 2559 นี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559