ปั้น 'สัตหีบโมเดล'!! ดึง 'อาชีวะ' สร้างงานใน 'อีอีซี'

22 ก.พ. 2561 | 06:24 น.
1311

‘สัตหีบโมเดล’ ถือเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี ที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบในแผนดังกล่าวแล้ว เพื่อนำมาเป็นโมเดลต้นแบบในการสร้างบุคลากรให้เพียงพอ รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะ

โดยคาดว่า จะมีความต้องการอัตราแรงงานมากถึง 1 แสนอัตรา โดยมี ‘วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ’ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบที่ถูกหยิบยกชื่อ และรูปแบบการเรียนการสอนมาใช้ต่อยอดขยายผลไปอีก 11 วิทยาลัยอาชีวะ รวมเป็น 12 วิทยาลัยอาชีวะ ที่ร่วมนำร่อง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ, วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี, วิทยาลัยเทคนิคพัทยา, วิทยาลัยเทคนิคระยอง, วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี, วิทยาลัยเทคนิคตราด, วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา, วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี, วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว, วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม (ฉะเชิงเทรา), วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี และวิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี


tp11-3342-a

กำหนดหลักสูตรนิวเอสเคิร์ฟ
ภารกิจของแต่ละวิทยาลัย มีหน้าที่ คือ ‘คัดสรรสาขาวิชา’ ที่สถาบันตัวเองมีความเชี่ยวชาญพิเศษ ดึงออกมาร่วมใน ‘สัตหีบโมเดล’ โดยจะมีองค์กรวิชาชีพร่วมกับสถานประกอบการใน ‘อีอีซี’ ที่มีเครื่องมือ มีความชำนาญในสาขาวิชานั้น ๆ และมีความต้องการบุคลากรในสาขาวิชา เข้ามาร่วมออกแบบหลักสูตร

อย่างเช่น ‘วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ’ ในเบื้องต้น เลือกสาขาช่างอากาศยาน สาขาระบบขนส่งทางราง สาขาตรวจสอบโดยไม่ทำลาย สาขาเมแคทรอนิกส์ ส่วน ‘วิทยาลัยเทคนิคพัทยา’ เลือกสาขาหุ่นยนต์และแขนกล และสาขาระบบขนส่งทางราง ก็จะถูกยกระดับหลักสูตรให้ตอบโจทย์ตลาดอีอีซีมากขึ้น

ลำดับต่อไป เมื่อวิทยาลัยมีความพร้อมด้านหลักสูตรการเรียนการสอน จะมี ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ของแต่ละสถานประกอบการเข้ามาเป็นครูพิเศษหรือวิทยากรอบรมให้กับสถานศึกษา ในกรณีที่สาขาวิชานั้นยังขาดครูอาจารย์ที่มีความชำนาญ โดยเฉพาะสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ NEWS-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ



ได้เบี้ยเลี้ยงช่วงเรียน
ลักษณะของหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ตามแบบ ‘สัตหีบโมเดล’ จะมีการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและผู้เรียน ภายใต้หลักสูตร S-M-L

S หมายถึง หลักสูตรระยะสั้น (Small Plan) ใช้เวลาเรียน 2 ปี สำหรับผู้มีพื้นความรู้ระดับ ปวส., M หมายถึง หลักสูตรระยะปานกลาง (Middle Plan) ใช้เวลาเรียน 3 ปี สำหรับผู้มีพื้นความรู้ระดับ ปวช. ที่ต้องการเรียนต่อถึงระดับ ปวส. และ L หมายถึง หลักสูตรระยะยาว (Large Plan) ใช้เวลาเรียน 5 ปี สำหรับผู้เรียนที่ประสงค์จะเรียนต่อเนื่องตั้งแต่ระดับ ปวช. ต่อเนื่อง ถึงระดับ ปวส.

นอกจากนี้ ภายใต้ ‘สัตหีบโมเดล’ อยู่บนหลักการ ‘เรียนรู้-รู้จริง-ลงมือทำจริง’ จะได้รับสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทนในระหว่างการเรียน อาทิ ได้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 4-5 พันบาท ได้ฝึกงานในสถานประกอบการ โดยที่สถานประกอบการจ่ายค่าจ้างในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และมีหลักประกันในการได้งานทำที่แน่นอน เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว

 

[caption id="attachment_261753" align="aligncenter" width="378"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

ทำงานได้เดือนละ 2 หมื่นบาท
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ชี้ให้เห็นว่า แรงจูงใจที่ทำให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนอีอีซี คือ ระหว่างที่นักศึกษากำลังเรียนเอกชน เขาจะมีค่าเบี้ยเลี้ยงให้เดือนละประมาณ 4,000-5,000 บาท ระหว่างการฝึกงาน เขาก็จ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้เหมือนกับแรงงานทั่วไป เมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำ 100% โดยคาดว่า รายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท

“เรียนจบวิทยาลัยอาชีวะในอีอีซี ในสาขาที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการในอีอีซี เงินเดือน 20,000 บาท ถือเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งกระบวนการเรียนแบบนี้ ทำให้เขาดูแลตัวเองได้ตั้งแต่ต้น” นายคณิศ กล่าว

ทั้งนี้ หาก ‘สัตหีบโมเดล’ ประสบความสำเร็จ สามารถจะนำไปขายในพื้นที่อื่น ๆ ได้ โดยแผนการพัฒนาด้านบุคลากรระดับอาชีวะ มีการประเมินความสามารถในการผลิตแรงงานอาชีวะเข้าสู่ตลาดในพื้นที่อีอีซี เพื่อรองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในปี 2560-2564 มีจำนวน 1.19 แสนตำแหน่ง โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา สามารถผลิตได้ 2 หมื่นคน และปี 2564 ผลิตได้ 2.68 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.4% โดยเมื่อเทียบกับความต้องการแรงงานอาชีวะในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ในปี 2560-2564 แล้วพบว่า ความต้องการแรงงานมากกว่าการผลิตแรงงานได้จำนวน 5.64 หมื่นคน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22-24 ก.พ. 2561 หน้า 01-11

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว