'คณิศ' โต้ข่าวลือบนโซเชียล! ยันทุกโครงการ 'อีอีซี' โปร่งใส อยู่ใต้กฎหมาย

20 ก.พ. 2561 | 13:52 น.
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงประเด็นข่าวการบิดเบือนข้อมูลร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ...  ในประเด็นที่ว่ามีการอนุญาตให้ต่างชาติซื้อและถือครองกรรมสิทธ์ที่ดินได้เบ็ดเสร็จ ให้สิทธิชาวต่างด้าวทำงานโดยไม่ต้องขออนุญาตและไม่จำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ รวมถึงการโอนเงินข้ามชาติที่ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ ประจำวันที่ 19 ก.พ. 2561 ที่มีข้อสังเกต ดังนี้

1. การอนุญาตให้ต่างชาติซื้อและถือครองกรรมสิทธ์ที่ดินได้เบ็ดเสร็จ

สรุป : พ.ร.บ. EEC ไม่ได้ให้ใครก็ได้ที่เป็นต่างด้าวถือที่ดิน เป็นการเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง

1.1 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 
“ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน”

หมายความว่า : ต้องเป็นนิติบุคล ต้องถือเพื่อประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และถือเพื่ออยู่อาศัยไม่ได้

1) ผู้จะถือครองที่ดินได้ “ต้องเป็นนิติบุคคล” คือ “ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นคนทั่วไปที่เป็นคนต่างด้าว จะไม่ได้สิทธิ”
2) บริษัท หรือ นิติบุคลนั้นๆ ต้องถือเพื่อ “ประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น  คือ “ไม่สามารถถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัย”
3) กิจการที่ได้รับอนุญาตเป็นอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะพวกที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล

1.2 มาตรา 49 วรรค 3
“ ทั้งนี้ผู้ประกอบกิจการซึ่งจะมีสิทธิ และจำนวนที่ดิน...ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย”

หมายความว่า : จำนวนที่ดินจะถือได้ต้องไม่เกินกฎหมายส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

1) เงื่อนไขที่จะให้นิติบุคล (ซึ่งไม่ใช่คนทั่วไป) นั้น ต้องไม่เกินที่มีอยู่ตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม
2) กรรมการนโยบายที่มี นรม.เป็นประธาน และมี รัฐมนตรี 14 คน เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ไม่เกิน กฎหมายส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม
3) การถือครองสิทธิ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ โดยคนต่างด้าวสามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน 100% ได้ แต่ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการ ตามที่ BOI ให้การส่งเสริม หรือเป็นผู้ประกอบกิจการ ในนิคมอุตสาหกรรม

1.3 มาตรา 51
“ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ แต่มิได้มีการประกอบกิจการภายในเวลา 3 ปี หรือหยุดประกอบกิจการในที่ดินดังกล่าว ผู้ประกอบกิจการนั้นต้องจำหน่ายที่ดินดังกล่าวภายใน 1 ปี”

หมายความว่า ถ้าไม่ได้ประกอบกิจการ 3 ปี ให้ขายที่ดินภายใน 1 ปี



appMP33-3176-A-503x275

2. การอนุญาตให้คนต่างด้าวซื้อและถือครองกรรมสิทธ์คอนโดมีเนียม

สรุป :  พรบ. EEC ไม่ได้อนุญาตต่างด้าวทั่วไปซื้อคอนโดได้ แต่ต้องเป็นผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำอุตสาหกรรมเป้าหมายเท่านั้น

2.1 มาตรา 49 วรรค 2
“ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยได้รับการยกเว้นจากการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด”

หมายความว่า
1) ผู้ได้รับอนุญาตต้องเป็นผู้ประกอบกิจการเท่านั้นจึงจะสามารถใช้สิทธินี้ได้ คือ ต้องเป็นนิติบุคคล หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะพวกที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล  “คนต่างด้าวทั่วไปจะถือเงินเข้ามาซื้อคอนโดไม่ได้” จำนวนคนที่ได้รับอนุมัติจึงไม่มาก และเป็นไปตามความจำเป็น

2) หลังจากที่ต้องเป็นบริษัทหรือ ผู้เชี่ยวชาญตามเงื่อนไขข้อ 1 แล้วจึงสามารถที่จะได้รับได้รับยกเว้นจากกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ซึ่งจะถือได้มากกว่า 49%  ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

3) สาเหตุที่ให้ถือได้มากกว่า 49% มีข้อเท็จจริง 5 ประการ คือ
3.1) เมื่อเราต้องการนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาประเทศ ก็ต้องให้เขามีอยู่อาศัย ไม่งั้นเขาก็ไม่มาลงทุน หรือมาถ่ายทอดความรู้ให้คนไทย  เมื่อไมให้มีที่ดิน ก็ต้องให้ซื้อคอนโดได้ หลักการนี้ใช้กันทั่วโลก
3.2) EEC ไม่สนับสนุนให้เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (เช่นนิคมอุตสาหกรรม) สร้างที่อยู่อาศัยแข่งกับเอกชนในบริเวณใกล้เคียง  ดังนั้นจึงสนับสนุนให้ คนไทยในพื้นที่ทำคอนโดให้กับผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติใกล้กับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ(เช่นนิคมอุตสาหกรรม) ในกรณีนี้ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่อาจเป็นคนต่างด้าว ดังนั้นจึงให้มีสัดส่วนได้มากกว่า 49%
3.3) ในปัจจุบัน คอนโดมีเนียมเป็นออฟฟิตคอนโดด้วย คือสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ทำงาน เช่นกรณีของ ศูนย์ Software Park ซึ่งหากจำกัดที่ให้มีต่างด้าวได้ไม่เกิน 49% จะไม่คล่องตัว และอาจไม่คุ้มที่จะลงทุน กรณีนี้จะเกิดขึ้นใน เขตส่งเสริมนวัตกรรม (EECi) และ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล (EECd)
3.4) คอนโดมีเนียมที่ต่างด้าวถือ ไม่นับว่าเป็นการถือที่ดิน แต่ต้องขายคืนเมื่อไม่ได้ทำงานเช่นเดียวกับที่ดิน
3.5) การให้สิทธิก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะให้กรณีที่เป็นประโยชน์และเป็นความจำเป็น


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

3. ให้สิทธิชาวต่างด้าวทำงานโดยไม่ต้องขออนุญาตและไม่จำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ
มาตรา 55  ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ให้ผู้ได้รับอนุญาต (ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด) ให้เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 54(1) (ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านใด ๆ ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ) 54(2) (ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ) มีสิทธิทำงานตำแหน่งหน้าที่การทำงานที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด โดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว แต่ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการ  ทั้งนี้ ให้ถือว่าหนังสืออนุญาตของเลขาธิการมีสถานะเป็นใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

สรุป สิทธิในการทำงานของคนต่างด้าว ในราชอาณาจักร จะให้เฉพาะผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (เขตเล็ก) และให้ผู้เฉพาะผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารหรือผู้ชํานาญการ โดยมีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการนโยบาย กำหนด และมีสิทธิทำงานตำแหน่ง ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดเท่านั้น  ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวก และชักชวนผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเข้ามาทำงาน และถ่ายทอดความรู้ให้คนไทย

มาตรา 59  เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ คณะกรรมการนโยบายจะประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ได้รับสิทธิพิเศษอื่นใด ตามที่เห็นสมควร ดังต่อไปนี้ก็ได้

1. ในกรณีที่การประกอบวิชาชีพใดมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ขออนุญาตต้องมีสัญชาติไทยหรือต้องได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองก่อนการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายแล้ว  คณะกรรมการนโยบายอาจประกาศให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองให้ประกอบวิชาชีพนั้นในประเทศที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด  (ต้องมีการกำหนดประเทศก่อน) สามารถประกอบวิชาชีพนั้น เพื่อกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

สรุป การประกอบวิชาชีพ ตามมาตรา 59 (1 ) คณะกรรมการนโยบายประกาศให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต จดทะเบียนและรับรองวิชาชีพจากประเทศที่กำหนด  ประกอบวิชาชีพในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กำหนด ทั้งเพื่อให้สามารถรองรับผู้เชี่ยวชาญระดับสูงให้เข้ามาทำงานในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ(เขตเล็ก)ได้


komchadluek_Apr252013_002

4. การโอนเงินข้ามชาติที่ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ
มาตรา 58  ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้รับสิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน มีสิทธิ ดังต่อไปนี้

1.ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
2.สามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

หมายความว่า
ให้ผู้ประกอบการสามารถถือบัญชีเงินตราต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องรีบแลกเป็นบาท และสามารถให้เงินตราต่างประเทศนั้นใช้ชำระค่าสินค้าและบริการภายในเขตส่งเสริมได้

สาเหตุที่ให้สิทธิประโยชน์ข้อนี้เพราะ
1) โดยข้อเท็จจริงนักลงทุนต่างชาติปรกติจะไม่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในไทยหากบังคับให้ต้องแลกเป็นบาท นอกจากนั้น การชำระค่าสินค้ามักจะทำโดยใช้ธนาคารในต่างประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศเพราะไม่ต้องการแลกเป็นบาท  ดังนั้นการเปิดให้สิทธิเรื่องนี้จะทำให้ประเทศไทยมีเงินตราต่างประเทศเข้ามา และสามารถเห็นการชำระค่าสินค้าได้ภายในประเทศ
2) ได้รับการยืนยันว่าขณะนี้ประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศมากเพียงพอที่จะอำนวยความสะดวกในด้านนี้ให้กับธุรกิจส่งเสริมคือ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใน EEC ได้ การดำเนินการครั้งนี้จึงเป็นกระบวนการที่จะปรับปรุงระบบการเงินในประเทศ
3) อย่างไรก็ตามหากมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน ธปท.สามารถเข้ามากำกับดูแลได้ทันที


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว