จีนแทรกแซงหยวนออฟชอร์ สกัดการอ่อนตัวฮวบฮาบ ธ.กลางหลายประเทศขยับรับมือ

16 ม.ค. 2559 | 23:00 น.
หลังจากที่ค่าเงินหยวนอ่อนลงเกินความคาดหมายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดต้นสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางจีนได้เริ่มมาตรการสกัดค่าเงินหยวนไม่ให้ตกลงมากไปกว่านี้ด้วยการเข้าไปซื้อเงินหยวนในตลาดฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดออฟชอร์ ทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อย 0.7 % เมื่อเทียบกับดอลลาร์ฮ่องกง และทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนในฝั่งแผ่นดินใหญ่แข็งค่าขึ้นเป็นครั้งแรกนับจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

[caption id="attachment_26545" align="aligncenter" width="500"] โจว เสี่ยวฉวน โจว เสี่ยวฉวน[/caption]

ดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืนระหว่างธนาคารในสกุลเงินหยวนขยับสูงขึ้น 66.82 % หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าเมื่อวันอังคาร (12 ม.ค.) เมื่อเทียบกับอัตราของวันจันทร์ การเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราในฮ่องกงนับเป็นความพยายามของธนาคารกลางจีนในการที่จะสกัดกั้นการอ่อนตัวลงอย่างฮวบฮาบของเงินหยวนและเป็นการอุดช่องห่างระหว่างอัตราออฟชอร์และออนชอร์ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เกี่ยวกับการพิจารณานำเงินหยวนเข้าสู่ระบบตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟ

แม้มาตรการนี้อาจจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนและบรรเทาความวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่หลายฝ่ายเกรงจะเป็นการชะลออย่างฮวบฮาบและรุนแรง (hard landing) แต่การที่ดอกเบี้ยเงินกู้สกุลหยวนพุ่งขึ้นก็อาจจะเป็นผลกระทบเชิงลบต่อแผนการของรัฐบาลจีนที่ต้องการทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟ

ภายหลังการแทรกแซงของธนาคารกลางจีนเมื่อวันอังคาร (12 ม.ค.) อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนในตลาดฮ่องกงขยับขึ้นมาอยู่ที่ 6.5806 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยับขึ้น 0.5 % แต่อัตราแลกเปลี่ยนในฝั่งแผ่นดินใหญ่ (ตลาดเซี่ยงไฮ้) อยู่ที่ 6.5753 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

เป็นที่คาดหมายว่าการปรับค่าอ่อนลงอย่างมากของเงินหยวนเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศต้องปรับตัวตาม ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน และอินเดีย ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการประกาศปรับลดดอกเบี้ยลงมา
เมซา เบจ หัวหน้าฝ่ายปริวรรตเงินตราและกลยุทธ์ดอกเบี้ยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ให้ความเห็นว่า การที่ธนาคารกลางจีนกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่ำกว่าความคาดหมายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยิ่งสร้างความวิตกว่าเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวอยู่แล้วจะยิ่งขยายตัวน้อยลงไปอีกและนำไปสู่ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้วเมื่อธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เลิกการผูกติดค่าเงินกับสกุลยูโร ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกตั้งแต่แคนาดามาจนถึงสิงคโปร์ แห่ปรับลดดอกเบี้ยและนำมาตรการการเงินเชิงผ่อนคลายมาใช้ตามๆกัน "เห็นได้ชัดว่า การอ่อนตัวลงของค่าเงินหยวนสร้างภาวะช็อกให้กับตลาดการเงินทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่เรากำลังคาดคะเน แต่ยังไม่ได้นำเข้าไปรวมไว้ในพยากรณ์แนวโน้มของตลาดก็คือ เงินสกุลเหรินมินบี หรือเงินหยวนของจีน จะลอยตัวมากขึ้น ไม่ผูกติดกับสกุลใดๆมากขึ้น และจึงเป็นสกุลเงินที่น่ากังวลมากขึ้นด้วย" ผู้เชี่ยวชาญจากบีเอ็นพี พาริบาส์ กล่าว ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงคาดว่า ธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกจะบริหารการปริวรรตเงินตราแบบปล่อยๆหรือผ่อนปรนมากขึ้น

ในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศสังคมนิยมอีกประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย ในปีนี้ได้ยืดหยุ่นอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนซึ่งมีอัตราอ้างอิงรายวันเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้นเช่นกัน ส่วนสิงคโปร์ ก็มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางจะขยายช่วงการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนรายวันให้กว้างขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตลาดการเงินที่อาจจะมีความผันผวนสูง ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าในตะกร้าเงินที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของเงินดอลลาร์สิงคโปร์นั้น อาจจะมีเงินหยวนเป็นสกุลหลักอันดับ 3 ในตะกร้าเงินก็เป็นไป โดยอันดับ 1 และ 2 ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ และริงกิตของมาเลเซีย

ด้านธนาคารเจพีมอร์แกนมีดัชนีวัดค่าความผันผวนของสกุลเงินตรา พบว่าล่าสุด (11 ม.ค.) ดัชนีความผันผวนขยับขึ้นสูงถึงระดับ 10.42% ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 "ยิ่งหยวนอ่อนค่าลงและเปราะบางมากขึ้น นั่นก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับธนาคารกลางของหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้" โมฮี-อุดดิน ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารอาร์บีเอสกล่าว พร้อมระบุว่า ค่าเงินหยวนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะการเงินของภูมิภาคนี้ในปีนี้ มากกว่าการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด เสียอีก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559