เอดีบีเพิ่มประสิทธิภาพฉลอง 50 ปี ยอดอนุมัติเงินกู้-เงินให้เปล่าพุ่ง19%

14 ม.ค. 2559 | 13:00 น.
เอดีบีแจงผลงานปีที่ผ่านมา อนุมัติวงเงินกู้และความช่วยเหลือทุกรูปแบบแก่ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมูลค่ารวมกว่า 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากที่สุดเท่าที่ดำเนินการมาเกือบครึ่งศตวรรษ อีกทั้งมูลค่าการเบิกจ่ายเงินกู้ก็พุ่งสูงทำลายสถิติ สะท้อนการเติบโตของภูมิภาคและความต้องการเงินทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาด้านต่างๆที่ขยายตัวเพิ่มมากทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน

ผู้บริหารของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี เปิดเผยที่กรุงมะนิลา ที่ตั้งสำนักงานใหญ่เมื่อเร็วๆนี้ว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา เอดีบีได้อนุมัติวงเงินเป็นมูลค่าสูงสุดเท่าที่เคยดำเนินการมากว่า 2.71 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้น 19 % เมื่อเทียบกับสถิติในปี 2557 ที่มีการอนุมัติวงเงินกว่า 2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ วงเงินดังกล่าวเป็นวงเงินรวมครอบคลุมทั้งการอนุมัติเงินกู้ เงินให้เปล่า ความช่วยเหลือทางวิชาการ และการให้กู้ร่วม

นายทาเคฮิโกะ นาคาโอะ ประธานเอดีบี กล่าวว่า การดําเนินงานในช่วงปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนาด้านอื่นๆ ยังมีอีกมาก และแม้ว่าภูมิภาคนี้จะมีการเติบโตที่แข็งแกร่ง แต่ความยากจนก็ยังคงกระจายไปทั่ว

เอดีบีได้อนุมัติเงินกู้และเงินให้เปล่าทั้งของภาครัฐ (sovereign) และนอกภาครัฐ (nonsovereign ซึ่งหมายถึงภาคเอกชนเป็นหลัก) สูงถึง 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2558 ซึ่งเพิ่มขึ้น 23% จากปี 2557 แยกเป็นเงินกู้และความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ภาครัฐ 1.39 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เพิ่มขึ้น 21%) และเป็นการอนุมัติเงินกู้นอกภาครัฐ 2.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 1.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2014 ส่วนการอนุมัติความช่วยเหลือทางวิชาการมีมูลค่ารวม 144 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นเงินกู้ร่วมมูลค่า 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เพิ่มขึ้น 13%)

นอกจากมูลค่าเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว เอดีบียังได้ขยายการจัดสรรเงินกู้ไปยังประเทศที่ยากจนที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของการอนุมัติการเงินกู้นอกภาครัฐทั้งหมด ทั้งนี้ ได้มีการจัดทําขั้นตอนการขออนุมัติโครงการแบบเร่งด่วนขึ้น เพื่อให้การทําธุรกรรมต่างๆ ของโครงการนอกภาครัฐขนาดเล็กมีความรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ เอดีบียังได้อนุมัติเงินกู้เป็นเงินสกุลท้องถิ่นแก่ภาคเอกชน และเพิ่มการออกพันธบัตรเป็นเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการกู้เงินประเภทนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการเบิกจ่ายเงินกู้หรือเงินให้เปล่า การพัฒนาก็จะไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ ในปีที่ผ่านมา (2558) สถิติชี้ว่า การเบิกจ่ายเงินกู้และเงินให้เปล่าที่เอดีบีได้อนุมัติวงเงินไว้แล้วนั้น มีจํานวนทั้งสิ้น 1.23 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (จากยอดที่อนุมัติไว้ 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)นับเป็นการเบิกจ่ายสูงสุดเท่าที่เคยมี โดยเพิ่มขึ้นถึง 21% จากปีที่แล้ว

การดําเนินงานที่สําคัญของเอดีบีในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา ได้แก่ การอนุมัติความช่วยเหลือตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะแผ่นดินไหวในเนปาลเมื่อเดือนเมษายน และพายุไซโคลนวานัวตูเมื่อเดือนมีนาคม รวมถึงการอนุมัติความช่วยเหลือสนับสนุนมาตรการทางการคลังแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าตกตํ่าและตลาดการเงินผันผวน เช่นที่คาซักสถาน และมองโกเลีย เป็นต้น

อีกความเคลื่อนไหวสำคัญของเอดีบีในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อให้การดําเนินงานของธนาคารสามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น คือ สภาผู้ว่าการของเอดีบี (ADB Board of Governors) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการรวมบัญชีเงินกองทุนพัฒนาเอเชีย (Asian Development Fund) ซึ่งเป็นกองทุนที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกแบบผ่อนปรน เข้ากับแหล่งเงินทุนสามัญ (ordinary capital resource) ซึ่งเป็นการจัดสรรเงินทุนให้แก่ประเทศสมาชิกโดยอิงกับอัตราดอกเบี้ยตลาด การปฏิรูปดังกล่าวจะทําให้ความสามารถในการบริหารเงินทุนของเอดีบีสําหรับการอนุมัติเงินกู้และเงินให้เปล่าต่อปี เพิ่มขึ้นอย่างสูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปีค.ศ. 2020 (หรือพ.ศ. 2563)

นอกจากนี้ เอดีบียังเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่จะใช้เป้าหมายทางการเงิน เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ประสบความสําเร็จ โดยปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เอดีบีประกาศจะเพิ่มขนาดเงินทุนสําหรับโครงการด้านการปรับปรุงสภาพภูมิอากาศประจําปีเป็น 2 เท่า โดยตั้งเป้าให้ถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2563 (เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปัจจุบัน) เอดีบียังมีแผนจะออกพันธบัตรสีเขียว (green bond) เป็นครั้งแรก เพื่อสนับสนุนการดําเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพภูมิอากาศ นอกจากนั้น เอดีบียังได้อนุมัติโครงการเงินกู้เชิงนโยบาย (policy-based loan) เป็นครั้งแรกให้กับจีน เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพอากาศในเขตเมืองปักกิ่งเทียนจิน และเหอเป่ย

และในส่วนของการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระดมเงินทุนและความชํานาญด้านการบริหารงานจากภาคเอกชนสําหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เอดีบียังได้จัดตั้งสํานักงานความร่วมมือภาครัฐและเอกชน (The Office of Public-Private Partnership-PPP)ขึ้น เพื่อให้คําปรึกษาในการจัดทําโครงการ PPP ในภูมิภาคเอเชียด้วย เช่น โครงการรถไฟ สายเหนือ-ใต้ของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงการดําเนินงานทั้งแผนงานของประเทศสมาชิก รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น มีการริเริ่มระบบจัดซื้อจัดจ้างเป็นการเฉพาะให้กับกลุ่มประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก พร้อมกันนี้ เอดีบียังจัดสรรทรัพยากรและให้อํานาจการบริหารแก่สํานักงานประจําประเทศต่างๆ ทั้ง 31 ประเทศมากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น

"เนื่องจากเอดีบีกําลังจะครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งในปี 2559 เราสัญญาว่าจะเร่งการดําเนินงานต่างๆ และบรรลุการลดความยากจนและการพัฒนาแบบยั่งยืนในภูมิภาค เราจะแข็งแกร่งขึ้น ดีขึ้น และเป็นธนาคารที่รวดเร็วขึ้น โดยจะเป็นหุ้นส่วนที่แนบแน่นกับประเทศสมาชิก สถาบันทางการเงินระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม" นายทาเคฮิโกะ ประธานเอดีบี กล่าวในที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559