อย่าวางใจแล้ง-NPL-การเมือง 4 นักเศรษฐศาสตร์ฟันธงปีนี้ความเสี่ยงยังรุมเร้ารอบด้าน

14 ม.ค. 2559 | 06:30 น.
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจฉายภาพปัจจัยเสี่ยงปี 59 รุมเร้าทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ชี้จีนชะลอตัวกดดันราคาสินค้า ส่วนเฟดขึ้นดอกเบี้ยอาจส่งผลต่อทิศทางค่าเงิน ขณะที่ความเสี่ยงทางด้านการเมือง รวมถึงหนี้เสีย และภัยแล้งยังเป็นปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม

นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส สำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี (ADB) ประจำประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงประเด็นเรื่องของความเสี่ยงที่ต้องจับตาในปี 2559 โดยระบุว่า มีทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งในส่วนของภายนอกประเทศจะมาจากการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้าย ดังนั้น ไทยเองจึงต้องพยายามรักษาสมดุลของเงินทุนไหลเข้าและออกให้ดี นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม และจะกดดันในเรื่องของการส่งออก โดยจะต้องติดตามดูว่าการส่งออกจะสามารถทำได้ดีมากขึ้นเพียงใด

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศจะต้องดูว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้จริงจังเพียงใด โดยการลงทุนจากภาครัฐฯในปีนี้ น่าจะยังต้องเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องดูว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางเอาไว้หรือไม่ มีเม็ดเงินลงทุนสูงเท่าใด หากสามารถทำได้จะทำให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ แต่หากทำไม่ได้เศรษฐกิจน่าจะยังไม่ฟื้นตัวได้มากนัก นอกจากนี้ยังจะต้องดูถึงรายได้ของประชาชนด้วยว่าจะเป็นอย่างไร จะมีการใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด หากเศรษฐกิจดี ธุรกิจดี เชื่อว่าการใช้จ่ายในประเทศก็จะดีตามไปด้วย

ด้านนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงปี2559 จะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เกิดขึ้นเร็วกว่าคาดการณ์ อาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักยังคงมีแนวโน้มลดลง และกดดันการฟื้นตัวของการส่งออกของไทย รวมถึงจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ ซึ่งส่งผลต่อทิศทางเงินบาท รวมทั้งสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังกดดันการบริโภคภาคเอกชน

ขณะที่การอ่อนค่าของสกุลเงินสำคัญๆ ในประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเงินหยวนซึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามนโยบายการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเงิน เงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย รวมทั้งการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาคจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ยังมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องทำให้การผลิตภาคเกษตร และฐานรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปี 2559 และเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม โดยคาดว่าจีดีพีปี 2559 น่าจะขยายตัวได้ที่ 3.5%

[caption id="attachment_26208" align="aligncenter" width="400"] อนุสรณ์ ธรรมใจ อนุสรณ์ ธรรมใจ[/caption]

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หนี้ไม่เกิดให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล อาจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นหลังไตรมาส 3/59 โดยเป็นผลจากฟองสบู่ในธุรกิจทีวีดิจิตอล ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วนงาน (Segment) มีภาวะอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) ขณะที่อาจเกิดปัญหาทางการเงินของกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม อีกทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และการอ่อนตัวของเงินบาท

นอกจากนี้ การไหลออกของเงินทุนจากกลุ่มทุนในประเทศ และการย้ายฐานการผลิตภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง การร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และการไม่สามารถผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระบบราง การบริหารจัดการน้ำ ได้ตามเป้าหมายหรือตามกรอบเวลา เหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น

นายชยนนท์ รักกาญจนันท์ กรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) อินฟินิติฯ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องจับตานั้น น่าจะเป็นความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก 2 ประเด็น ได้แก่ 1.หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยด้วยอัตราเร่งที่สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกทั่วตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย เมื่อนั้นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจพิจารณานโยบายดอกเบี้ย เพื่อป้องกันเงินทุนไหลออกแรงเกินไปมากกว่าพิจารณาบนปัจจัยพื้นฐานของประเทศเพียงอย่างเดียว

และ 2.หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว โดยที่จีดีพีโตต่ำกว่า 6% ในปี 2559 จะทำให้ภาคการส่งออกไทยยังไม่ฟื้นตัว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อนั้นเศรษฐกิจไทยอาจจะโตต่ำกว่าเป้า และต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป รวมถึงต้องการมาตรการอื่นๆ มากระตุ้นเพิ่มเติม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559