‘สุพันธุ์’ถกแผนดันSMEs บสย.เล็งชงครม.ขยายเงินค้ำ‘ไมโครการันตี’ไม่เกิน2แสน/ราย

16 ม.ค. 2559 | 07:00 น.
คณะทำงานส่งเสริมเอสเอ็มอีและวิสาหกิจ นัด 13 ม.ค. หารือแนวทางผลักดัน 3กลุ่มเอสเอ็มอีทั้ง Strong-Normal และ Turn Around"ให้เติบโตพร้อมเข่งขันได้ พร้อมถกนิยาม start -up ขณะที่แบงก์พร้อมประคองปล่อยกู้ผู้ประกอบการผ่านซอฟท์โลน 5หมื่นล้านบาท ด้านบสย.เล็งเสนอครม.ขยายวงเงินค้ำประกัน "ไมโครการันตี เฟสสอง" ไม่เกิน 2แสนบาทต่อราย

(11มกราคม 2559 )ธนาคารออมสินได้ลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ระยะ2 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เป็นการเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนแก้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( SMEs)ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ รวม 20 แห่งตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)( 22 ธ.ค.58)หลังจากโครงการซอฟท์โลนระยะที่ 1 วงเงิน 1แสนล้านบาท ซึ่งใช้แหล่งเงินจากธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ให้แบงก์รัฐและธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ย 0.1%ต่อปี เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับเอสเอสเอ็มอี ในอัตราดอกเบี้ยอัตรา 4%ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 7ปี โดยวงเงินดังกล่าวได้ใช้หมดภายในเดือนเศษ(18ก.ย.ถึง 26พ.ย.58) และยังมียอดค้างท่อที่ต้องการกู้อีกราว 3หมื่นล้านบาท

ต่อเรื่องนี้นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า โครงการระยะที่ 2 ได้กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท (โครงการระยะ 1 กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท )โดยยังคงเงื่อนไขอื่นเหมือนเดิม คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยเข้าร่วม 5พันราย และอนุมัติสินเชื่อหมดในเวลา 1 เดือน โดยธนาคารออมสินและสถาบันการเงินพร้อมจะเป็นกลไกผลักดันเงินกู้ซอฟท์โลนระยะ 2 ให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันภายในสัปดาห์นี้ธนาคารออมสินกำหนดลงนามกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อร่วมลงทุนในเวนเจอร์แคปิตอลซึ่งทางหลักทรัพย์ฯจะใส่วงเงินร่วมทุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อต่อยอดการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี

นายวีระศักดิ์ สุตันฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ สายลูกค้าธุรกิจรายกลาง ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน)(บมจ.)เปิดเผยว่า โครงการซอฟท์โลนระยะที่ 2 ดังกล่าว เชื่อว่าจะตอบสนองความต้องการวงเงินหมุนเวียนของผู้ประกอบการรายย่อยได้ต่อเนื่องจากโครงการแรก โครงการดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของทางการที่จะหาช่องทางดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน ขณะเดียวกันภายใต้คณะทำงานด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ SMEs & Start-up ( 1ใน 12คณะทำงานร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ) ที่มีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานคณะทำงานชุดนี้ จะมีการประชุมเพื่อเสนอภาพใหญ่ในวันที่ 13 มกราคม 2559 ว่าจะต้องทำอะไรบ้างหลังจากที่ผ่านมาได้หารือกันมาแล้ว 1-2ครั้ง

" คงต้องรอดูว่าที่ประชุมในวันที่ 13 มกราคมนี้ จะมีการเสนอหรือสรุปแผนระยะแรกอย่างไร แต่ส่วนหนึ่งอาจจะมีการทำความเข้าใจนิยามของผู้ประกอบการ Start-upด้วย เพราะปัจจุบันมีนิยามในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม,ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก่อนจะกำหนดแนวทางหรือพรีเซ้นต์แผนงาน"

สอดคล้องกับแหล่งข่าวคณะทำงานโดยระบุว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีต้องการจะผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความรู้และอยู่ได้ แต่แนวทางอาจจะต้องใช้เวลาโดยไม่สามารถจะเห็นรูปธรรมในไตรมาส 1-2 ทั้งนี้กลุ่มSMEs มีการแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มียอดขายเติบโต 5% ติดต่อกันเกิน 3 ปี (หรือกลุ่มStrong) 2. กลุ่มปกติ(Normal) มียอดขายเติบโต 0-5% เ ป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันและ 3.กลุ่มที่ไม่มีการเติบโตหรือการเติบโตติดลบต่อเนื่อง(กลุ่ม Turn-Around) โดยหลักการตอนนี้อยู่ในช่วงทำแผนว่าจะทำอย่างไรให้แต่ละกลุ่มเติบโตโดยไม่ติดลบและสามารถยืนอยู่บนเวทีการค้าได้ทั้งเอสเอ็มอีและกลุ่มStart-up

ด้านวิพล วรเสาหฤห ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มลูกค้าธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า ในส่วนของซอฟท์โลนระยะที่ 2 นั้น ในส่วนของไทยพาณิชย์น่าจะใช้วงเงินเพียง 7-8 พันล้านบาท ซึ่งภาพรวมไตรมาสแรกธุรกิจเอสเอ็มอีปีนี้ยังเหนื่อยต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย และประเมินว่าซอฟท์โลนเฟสระยะ 2 จะคึกคักเฉพาะ 3 วันแรก ตามยอดวงเงินที่ยังรออนุมัติซึ่งค้างท่ออยู่ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกกว่า 2 หมื่นล้านอาจจะเป็นรายใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการคุยและอนุมัติ

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไปสายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ( บสย .) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติวงเงินสำหรับค้ำประกันโครงการสินเชื่อสำหรับรายย่อย(มีขนาดสินทรัพย์ถาวรมูลค่าไม่เกิน 5ล้านบาทโดยไม่รวมที่ดิน)หรือโครงการ Micro guarantee ระยะที่ 2 ในเร็วๆนี้ ซึ่งกำหนดวงเงินค้ำประกันต่อรายที่ 2 แสนบาท คาดว่าจะสามารถค้ำประกันรายย่อยคิดเป็นวงเงินได้ราว 1.35 แสนล้านบาท

โครงการ "Micro guarantee" สำหรับรายย่อยจะกำหนดค่าธรรมเนียมแทนหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยธนาคารที่ลูกค้ายื่นขอกู้จะเป็นฝ่ายประเมินและกำหนดค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 1% 2% 3% หรือมากกว่านี้ เช่น กรณีที่คิดค่าธรรมเนียมที่ 5% ลูกค้าจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใน 1 ปีแรกแต่จะเริ่มคิดค่าธรรมเนียมปีที่ 2 ไปจนถึงสิ้นสุดปีตามระยะสัญญาค้ำประกัน

ทั้งนี้ สิ้นปี 2559 จะมีฐานลูกค้ารวม2 แสนราย และยิ่งสภาพเศรษฐกิจไม่ดีหรือมีความเสี่ยงมากขึ้น จะมีความต้องการให้บสย.คํ้าประกันมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559