ElectricVehicle จุดเปลี่ยนพลังงานโลก

14 ก.พ. 2561 | 23:51 น.
MP23-3339-1B ทุกวันนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนเรามักจะได้ยินคนพูดกันถึงรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) อยู่บ่อยครั้ง ยิ่งในช่วงหลังๆ นี้ เมื่อใดก็ตามที่บริษัทต่าง ๆ เริ่มมีแผนที่จะศึกษาหรือเริ่มลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV แล้ว ก็จะยิ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากเป็นพิเศษ สาเหตุก็เพราะว่าหลายฝ่ายต่างมีความเห็นตรงกันว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในอนาคตอันใกล้เนื่องจากความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ารถยนต์แบบดั้งเดิมที่ใช้นํ้ามันเป็นตัวจุดกำลังเครื่องยนต์ถึง 5 เท่า อีกทั้งยังมีเสียงที่เงียบกว่าทำให้ลดมลพิษทางเสียงได้อีกด้วย

ปัจจุบันยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 7.4 แสนคัน ในปี 2016 เป็น 1.1 ล้านคันในปี 2017 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตถึง 51% อย่างไรก็ตามยอดขายรถยนต์ไฟฟ้านี้คิดเป็นเพียง 1.4% ของยอดขายรถทั้งหมดทั่วโลกเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ 61% อยู่ในรูปแบบ Battery-electric vehicles (BEV) หรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว และอีก 39% เป็นระบบ Plug-in hybrids (PHEV) ซึ่งใช้ทั้งไฟฟ้าและนํ้ามันร่วมกัน แต่ในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าได้มีการพัฒนาโดยสามารถทำความเร็วได้สูงทัดเทียมกับรถยนต์แบบดั้งเดิม และร่นระยะเวลาชาร์จไฟลงมาได้เหลือเพียง 20 นาทีต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้งเท่านั้น คำถามที่ตามมาก็คือเมื่อไหร่ล่ะที่ Electric Vehicle: EV จะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้พลังงานแบบดั้งเดิมและลดบทบาทการใช้นํ้ามันลงได้อย่างแท้จริง เพราะปัญหาที่ยังมีอยู่ในตอนนี้ก็คือ ราคาของรถยนต์ไฟฟ้ายังสูงกว่ารถยนต์แบบดั้งเดิมมาก มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานซึ่งอยู่ที่ราว 6 - 8 ปี และระยะทางวิ่งที่จำกัดส่วนใหญ่ยังเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

มีการคาดการณ์กันว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเมื่อถูกใช้งานอย่างแพร่หลายซึ่งระดับยอดขายอาจอยู่ที่ 10 ล้านคันต่อปี หรือประมาณปี 2023 ซึ่งจำนวนดังกล่าวก็จะทำให้ลดต้นทุนในการผลิตลงได้ โดยหัวใจสำคัญที่จะทำให้ไปถึงจุดนั้นก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตแบตเตอรี่บรรจุไฟฟ้า อันเป็นส่วนประกอบที่มีราคาสูงที่สุดของรถยนต์ โดยแบตเตอรี่นั้นได้ถูกพัฒนามาโดยตลอดหลาย สิบปี ตั้งแต่การใช้ตะกั่วกรดซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมจนถึงปัจจุบันที่แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนถูกใช้งานมากที่สุด เนื่องจากมีประ สิทธิภาพในการใช้งานที่ยาวนานเมื่อเทียบกับนํ้าหนักที่เบานั่นเอง โดยแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนสามารถผลิตได้จากวัสดุหลากหลายประเภท ซึ่งทำให้ได้คุณภาพและการใช้งานที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความสามารถในการวิจัยและพัฒนาของผู้ผลิต โดยประเทศที่มีแหล่งลิเทียมมากนั้นส่วนใหญ่อยู่บนทวีปอเมริกาใต้ เช่น ชิลี อาร์เจนตินา และบราซิล เป็นต้น

AW_Online-03 หลายท่านก็อาจสงสัยว่าแล้วมันดีต่อการลงทุนอย่างไร สำหรับในแวดวงการลงทุนนั้นคนที่จะได้รับประโยชน์ชัดเจนลำดับแรกๆ จากที่กล่าวข้างต้น ก็คือ ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทั้งในแง่บวกและลบ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวัสดุหรือรูปแบบการผลิตใหม่ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ที่มีอยู่มาปรับใช้ เนื่องจากรถยนต์ขับเคลื่อนไฟฟ้านั้นจะมีการออกแบบที่เปลี่ยนไปมากและมีชิ้นส่วนที่ลดลงเนื่องจากเครื่องยนต์ที่มีส่วนประกอบน้อยกว่า ยังไม่รวมถึงคนงานภายในโรงงานผลิตที่อาจสูญเสียตำแหน่งงานไปเพราะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีความซับซ้อนและขั้นตอนที่ง่ายกว่ามาก ทำให้หุ่นยนต์อาจเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

สิ่งสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยนั่นก็คือ ปริมาณการใช้นํ้ามันดิบ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง โดยเหล่าผู้ผลิตและสำรวจพลังงานขั้นต้นระดับโลกเองต่างก็ทราบถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนี้ดี และคาดการณ์ว่าความต้องการใช้นํ้ามันจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงปี 2035-2040 และค่อยๆ ลดลงจากความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเราจะเริ่มสังเกตเห็นผู้ผลิตเริ่มหันไปลงทุนในพลังงานชนิดอื่นนอกเหนือจากนํ้ามันกันมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าหรือสถานีสำหรับชาร์จพลังงานซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องวางรากฐานให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งอาจต้องอาศัยการวางโครงข่ายจากภาครัฐมาเป็นตัวช่วย

สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปตามห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งผมเองก็หวังว่าท่านนักลงทุนจะพอมองเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามาถึง และเห็นโอกาสในการลงทุนไปพร้อมกันด้วยนะครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
e-book