แฟรนไชส์อาหารอ่วม2เด้งขึ้นค่าแรง

16 ก.พ. 2561 | 04:02 น.
กระทบหนักขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า ชี้ร้านอาหารแฟรนไชส์โดน 2 เด้ง แนะบริหารจัดการใหม่ คาดหลังเมษายนเห็นทั้งขึ้นราคา เมนูใหม่ โปรโมชันดุ รวมถึงลดปริมาณอาหาร และปรับโมเดลให้บริการลดลง

นายสุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่น แนล แฟรนไชส์ จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารมอร์เก้น เรสเตอรอง แอนด์คาเฟ่ และไส้กรอกแบรนด์อีซี่ส์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าเป็น 308-330 บาทต่อวัน มีผลในเดือนเมษายนเป็นต้นไป มีผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างแน่นอน ทั้งร้านที่จ่ายค่าแรงเป็นบาท และจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยเบื้องต้นพบว่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1-2% ซึ่งหากเป็นในช่วงเศรษฐกิจดี ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 1-2% จะไม่ส่งผลกระทบ แต่ในภาวะเช่นนี้ที่เศรษฐกิจไม่ดี การจะกระตุ้นยอดขายและทำกำไรให้เพิ่มขึ้น เพื่อมาทดแทนต้นทุนที่ปรับขึ้น เป็นเรื่องยาก

[caption id="attachment_258286" align="aligncenter" width="335"] สุภัค หมื่นนิกร สุภัค หมื่นนิกร[/caption]

“ร้านอาหารเป็นธุรกิจบริการ แตกต่างจากโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถเอาต์ซอร์ซได้ ร้านอาหารจะปรับลดคน หรือใช้เครื่องจักรมาช่วยก็ไม่ได้ งานนี้จึงกระทบเต็มๆ”

อย่างไรก็ดี คาดว่าช่วง 2-3 เดือนนี้จะยังไม่มีการปรับตัวอะไรเป็นพิเศษ แต่หลังเดือนเมษายนเมื่อต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงขึ้น ก็จะเห็นทางออกหลายวิธี เช่น ปรับขึ้นราคาอาหาร ออกเมนูอาหารใหม่ๆ ในรูปแบบที่ง่ายขึ้นต้นทุนถูกลง รวมถึงการจัดโปรโมชันเพื่อกระตุ้นให้ยอดขายเพิ่มขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน การลดปริมาณอาหาร และการลดโมเดลธุรกิจจากเดิมที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) ก็จะลดบริการลงเพื่อเป็นการลดต้นทุน เป็นต้น

ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญคือปัญหาเรื่องของยอดขาย และค่าแรง ดังนั้นการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจจึงต้องมองถึงอนาคต ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับปัญหาที่จะต้องเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ การพัฒนารูปแบบร้านใหม่ๆ คอนเซ็ปต์ใหม่ที่ตอบรับกับความต้องการของลูกค้าในอนาคต เช่น รูปแบบเอ็กซ์เพรส ทานง่ายกับเมนูง่ายๆ ที่เน้นสะดวก รวดเร็วในราคาที่คุ้มค่า ฯลฯ

ad-bkk “ธุรกิจแฟรนไชส์จะได้รับผลกระทบหนักกว่า 2 เท่า เพราะเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์หรือแฟรนไชซอร์ จะให้การสนับ สนุนและเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาด โปรโมชันเท่านั้น แต่เรื่องของพนักงานหรือ HR ผู้รับสิทธิ์หรือแฟรนไชซีต้องเป็นผู้บริหารจัดการเอง ภาระจึงมาตกหนักที่แฟรนไชซีทั้งการสรรหาคน และค่า จ้างแรงงานที่สูงขึ้น ขณะเดียว กันในธุรกิจร้านอาหารเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรยังมีให้เห็นอยู่ต่อเนื่อง”

ที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารหลายแห่งแข่งกันที่ราคา จนเกิดเป็นสงครามราคา แต่วันนี้หากมุ่งเน้นไปที่ราคาจนขาดคุณภาพ สิ่งที่ตามมาคือแข่งกันตาย อย่างไรก็ดีชื่อว่าตลาดร้านอาหารยังมีช่องว่างและโอกาสทางการตลาดอีกมาก ขอเพียงหาให้เจอแล้ววางแผน บริหารจัดการให้ดี ก็สามารถที่จะอยู่ในตลาดได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว