ล้มโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ.-ปตท.วุ่นรับมือ

05 ก.พ. 2561 | 05:00 น.
ปตท.-กฟผ. จับมือลุยโครงการลงทุนด้านพลังงาน ชี้มีโอกาสร่วมทุนโรงไฟฟ้าทับสะแกระบบกักเก็บพลังงานสำรองFSRU และโรงไฟฟ้าในเมียนมา “ศิริ”เผยชะลอโรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา ออกไปอีก 3 ปี ดันผุดโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคใต้ 300 เมกะวัตต์แทน

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านพลังงาน กับบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ เชื่อว่าจะเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน เบื้องต้นในด้านความร่วมมือจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยรัฐบาลมีนโยบายให้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่ง กฟผ.ได้รับอนุมัติให้ทำโครงการคลังแอลเอ็นจี FSRU ขนาด5 ล้านตัน ดังนั้นจะต้องมีการเชื่อมต่อระบบท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท.

สำหรับโครงการร่วมทุนระหว่าง กฟผ. กับ ปตท.ที่คาดว่าจะเห็นเป็นโครงการแรกๆ นั้น จะมีการศึกษาร่วมกัน อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าทับสะแก ซึ่งกฟผ.เสนอว่ามีพื้นที่จำนวน 4 พันไร่ สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ แต่ก็ยังไม่เคยศึกษาว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซ เพียงแต่เสนอว่าพื้นที่ดังกล่าวจะสามารถพัฒนาต่อยอดอะไรได้บ้าง นอกจากนี้คาดว่าจะร่วมลงทุนในธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานสำรอง(Energy Storage) รวมทั้งโครงการในเมียนมาด้วย

TP8-3337-B อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากลงนามในครั้งนี้ จะมีความชัดเจนด้านโครงการที่จะร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานภายใน 30 วัน เพื่อเข้ามาพิจารณาเรื่องดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้การลงทุนโครงการของกฟผ. มีความคล่องตัวมากขึ้น อาทิ หากโครงการใดที่กฟผ. ต้องใช้ขั้นตอนการตัดสินใจนานก็อาจใช้ความคล่องตัวของทาง ปตท.แทน ส่วนในอนาคตที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการแข่งขันกับภาคเอกชนมากขึ้นนั้นก็จำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.กฟผ.เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือด้านพลังงานครั้งนี้ เพื่อร่วมกันศึกษาวางกรอบความร่วมมือในการประกอบธุรกิจพลังงาน ด้วยองค์ความรู้ในธุรกิจที่แต่ละหน่วยงานมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะเสริมสร้างให้เกิดการนำไปประยุกต์ และต่อยอดให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ๆให้แก่ประเทศได้ในอนาคต

ทั้งนี้ เรื่องการลงทุนคลังแอลเอ็นจีภาคใต้ยังไม่ชัดเจน ยังต้องรอความชัดเจนโรงไฟฟ้า แต่ก็มีพื้นที่รองรับอยู่แล้ว รวมทั้งศึกษาไว้เพื่อรองรับกรณีสัญญาก๊าซแหล่งเจดีเอจะหมด ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันว่าคลังแอลเอ็นจีที่ภาคใต้จะร่วมมือกันอย่างไรบ้าง ส่วนโครงการในเมียนมาปตท. ศึกษาสร้าง FSRU ขนาด 3 ตัน ซึ่งเห็นโอกาสในการต่อยอดเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อป้อนในเมียนมา หากกฟผ.สนใจที่จะทำปตท.ก็พร้อมร่วมมือ ส่วนจะร่วมมือกันอย่างไรนั้นจะต้องศึกษาร่วมกันต่อไป

[caption id="attachment_256467" align="aligncenter" width="503"] ผนึก2ผู้นำ… ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีลงนามบันทึก ความร่วมมือด้านพลังงาน ระหว่างกฟผ. และปตท. โดยมี กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการกฟผ. และเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ร่วมลงนาม ผนึก2ผู้นำ… ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีลงนามบันทึก
ความร่วมมือด้านพลังงาน ระหว่างกฟผ. และปตท. โดยมี กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการกฟผ.
และเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ร่วมลงนาม[/caption]

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานสั่งการให้ กฟผ. ชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขนาด 2 พันเมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ออกไปก่อน โดยใช้เวลา 3 ปีศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไร จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่พร้อมๆกับการทำความเข้าใจกับประชาชน

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการเติบโตโดยเฉพาะการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันก็จะบริหารจัดการในช่วง 3-5 ปี โดยเพิ่มสายส่งแรงดันสูงเชื่อมโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่คือจะนะ และขนอมตรงไปยังฝั่งอันดามันและเชื่อมกับสายส่งหลักจากภาคกลางไปยังสถานีสุราษฎร์ธานี จะช่วยแก้ไขปัญหาสายส่งที่มีปัญหาคอขวดทำให้การใช้กำลังผลิตไม่เต็มที่ รวมทั้งพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 300 เมกะวัตต์ โดยการสร้างสายส่งเชื่อมจากโรงไฟฟ้า3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาป้อนแก่ภาคใต้ด้านบนนั้น ทางรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุน ไม่ใช่กฟผ.ลงทุนเพื่อไม่เพิ่มเป็นภาระค่าไฟฟ้า
ad-hoon-1

ทั้งนี้ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล จะเป็นโรงไฟฟ้าที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการขายไฟฟ้า ภาคประชาชนจะได้ประโยชน์ทั้งการขายเชื้อเพลิง และการจ้างงานโดยภาครัฐจะดูแลเรื่องความมั่นคงในการก่อสร้างควบคู่กันไป ทั้งนี้ ในปี 2560 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) อยู่ที่ประมาณ2,624 เมกะวัตต์ ขยายตัวประมาณ 3.4% ขณะที่กำลังการผลิต อยู่ที่ 2,788 เมกะวัตต์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,337 วันที่ 4 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว