อาหารแช่แข็งปรับแผน ซื้อเครื่องจักรเพิ่ม-แตกไลน์สินค้าหลังต้นทุนพุ่ง

07 ก.พ. 2561 | 11:36 น.
ปัจจัยรุมเร้าผู้ประกอบการธุรกิจอาหารแช่แข็งกุมขมับต้นทุนพุ่ง กำไรหด เร่งปรับแผนจ้าละหวั่น “พีเอฟพี” ยกเครื่องทุ่ม 200 ล้านบาทนำเข้าเครื่องจักรใหม่เพิ่มกำลังการผลิตแทนแรงงานคน “โออิชิ” ขยายไลน์สินค้า เพิ่มฟูดเซอร์วิส บุกตลาดไทย-เทศ ด้านลัคกี้ ยูเนี่ยน เบนเข็มรุกตลาดในประเทศ-ซีแอลเอ็มวี

การประกาศปรับขึ้นค่าแรง ขั้นตํ่าทั่วประเทศเป็น 308-330 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 315.97 บาทต่อวัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แม้จะไม่ใช่การปรับในอัตราที่สูงมากนัก แต่ผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมเริ่มขยับตัวและปรับแผนงานให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงกลุ่มอาหารแช่แข็ง หรือ Frozen Food ที่นอกจากจะต้องเผชิญกับต้นทุนของค่าแรงที่สูงขึ้นแล้ว ยังต้องประสบกับสภาวะค่าเงินบาทแข็งตัวมากขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับตัวและบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและแข่งขันบนสนามธุรกิจทั้งใน และต่างประเทศได้

ทั้งนี้ภายหลังภาครัฐประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าทั่วประเทศแม้จะยังไม่เริ่มต้น แต่ผู้ประกอบการต่างเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องของต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นตามมา โดยแบรนด์อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งอย่างพีเอฟพี (PFP) บอกว่ามีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น 3% จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าในแต่ละครั้ง ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น ค่าแรงพื้นฐานที่ต้องปรับขึ้นให้พนักงาน, ประกันสังคม กองทุน และสวัสดิการบางอย่างที่มีการปรับขึ้นอัตราเงินเดือน, ค่าโอทีในการทำงานที่ต้องเพิ่มตามไปด้วย ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลให้ต้นทุนของบริษัทสูงขึ้นตามไปด้วย

MP36-3337-A นอกจากนี้จากปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ยังส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทหดตัวลงไปอย่างน้อย 5% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีกำไรน้อยอยู่แล้วทำให้กำไรยิ่งน้อยลง ทั้งนี้หากค่าเงินบาทแข็งตัวไปมากกว่านี้ก็จะยิ่งกระทบต่อธุรกิจส่งออกสูงขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจคือ 32.50-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยนายทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พีเอฟพีฯ ผู้นำผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งภายใต้แบรนด์พีเอฟพี หรือ PFP เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทเตรียมใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ใช้ไป 140-150 ล้านบาท ในการนำเข้าเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพและความรวดเร็วในการผลิตให้สูงขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก โดยในช่วง 1 ปีนับจากนี้บริษัทจะเร่งดำเนินงานในส่วนของการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการผลิตให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็จะมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าใหม่ตามความต้องการของตลาดให้มากที่สุด

“แม้เราจะนำเข้าเครื่องจักรเพื่อมาใช้ในการผลิตเพิ่มเติม แต่ทว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนปรับลดแรงงานที่มีแต่อย่างใด เนื่องจากการนำเครื่องจักรเข้ามาเพื่อเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตให้มีศักยภาพ และรวดเร็วเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามหากมีการปรับลดแรงงานจริงก็ยืนยันว่าไม่มีแผนปรับลดแรงงานชาวไทยแต่อย่างใด”

อย่างไรก็ตามแม้ปีนี้จะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบต่อภาคธุรกิจส่งออกเพิ่มขึ้น แต่บริษัทยังคงมั่นใจว่าจะสามารถสร้างยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นได้ 10% ซึ่งเป็นตัวเลขการเติบโตที่บริษัทวางไว้เป็นอย่างน้อยต่อปี โดยมองว่าทิศทางการแข่งขันในธุรกิจส่งออกนับจากนี้แต่ละผู้ประกอบการจะเน้นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตมากขึ้น โดยในช่วง 1 ปีนับงจากนี้คาดการณ์ว่าจะให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมแช่แข็งเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่นางกชกร อรรถรังสรรค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดอาหารแช่แข็งและ Packaged Food มีการเติบโตอย่างมาก ทำให้บริษัทต้องเตรียมแผนรองรับการขยายตัวของตลาดทั้งการขยายไลน์สินค้าใหม่ การเพิ่มรูปแบบ รสชาติ และบรรจุภัณฑ์ให้หลากหลาย เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม รวมทั้งขยายตลาดในต่างประเทศทั้งเอเชีย และยุโรป

“ตลาดอาหารแช่แข็งมีการเติบโตทุกปี โดยคาดว่านับจากปี 2558-2563 มีการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 2563 มีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ขณะที่การบริโภคอาหารแช่แข็งของคนไทยยังมีปริมาณน้อยเฉลี่ย 700-800 กรัมต่อคน แตกต่างจากหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลียที่บริโภค 3 กิโลกรัมต่อคน ทำให้มองเห็นโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก”

สำหรับแผนการทำตลาดในปีนี้จะเน้นการขยายไลน์สินค้าทั้งในเชิงลึกและกว้าง ได้แก่การเพิ่มไลน์สินค้าให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มรสชาติที่แปลกใหม่ และนำสินค้าที่มีอยู่มาต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสในการขาย รวมทั้งการเข้าถึงลูกค้า ผ่านฟูดเซอร์วิส เช่น ร้านอาหาร หรือช่องทางจำหน่ายอื่นๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น ส่วนในต่างประเทศบริษัทจะเน้นส่งออกไปยังเยอรมนี และกำลังจะขยายตลาดไปยังสปป.ลาว และอังกฤษ นอกจากนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อหา พันธมิตรรุกตลาดในสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียด้วย

ด้านนางสาววันทนี แสงอุทัย รองประธานกรรมการ บริษัท ลัคกี้ ยูเนี่ยน ฟู๊ดส์ จำกัด ผู้ผลิตอาหารแปรรูปแข็งจากเนื้อปลาบด กล่าวว่า บริษัทพร้อมสร้างแบรนด์ผ่านดิจิตอล แพลตฟอร์ม ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยเริ่มต้นเปิดให้บริการ Lucky mart Shop Online ทำการค้าในรูปแบบ E-Commerce พร้อมจับมือ Partner ในกลุ่มโลจิสติกส์รุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยในปี 2563บริษัทมีแผนขยายตลาดไปยังอเมริกา, ยุโรป, ตะวันออกกลาง, เอเชีย-แปซิฟิก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
728x90-03-3-503x62-3-503x62
“จะใช้งบการตลาดกว่า 30 ล้านบาท สำหรับทำกิจกรรมส่งเสริมการขายและโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังจะเปิดตัวสินค้าใหม่ในกลุ่มอาหารแปรรูปจากเนื้อปลาบดในทุก 3 เดือน เหมาะกับคนรุ่นใหม่ รวมทั้งขยายช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,337 วันที่ 4 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว