เกษตรฯ เดินหน้าแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ หวังช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอย่างยั่งยืน

11 ม.ค. 2559 | 02:30 น.
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่ราคายางลดต่ำลง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจโดยรวมในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลักในการนำเข้ายางรายใหญ่ของโลกชะลอตัว รวมทั้งการสนับสนุนการใช้ยางพาราในการทำถนนมีสัดส่วนนำไปใช้ได้เพียง 5% เท่านั้น จากสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนแก้ไขปัญหาด้านยางพารา 2 ลักษณะพร้อมๆกัน คือ 1) การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ใช้ยางพาราในการทำถนนโดยผ่านกระทรวงคมนาคม จำนวน 20,000 ตัน และให้อบต./อบจ. ใช้ยางพาราในการสร้างสนามฟุตซอล ปูพื้นสนามกีฬา เป็นต้น 2) การแก้ปัญหายางพาราเพื่อให้เกิดความอย่างยั่งยืนในอนาคต รัฐบาลได้อนุมัติเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพเสริมในสวนยาง ช่วยให้มีรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการทำสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว ซึ่งในขณะนี้มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ 159,270 ราย ได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนในการประกอบอาชีพเสริมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว 96,563 ราย และเมื่อ 8 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ขอขยายวงเงินเพิ่มและได้รับงบประมาณเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท ขณะนี้เหลือเงินประมาณ 2,861 ล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการขยายระยะเวลารับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติม ตั้งแต่ 15 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

“จากการติดตามผลการดำเนินโครงการปรากฏว่า ร้อยละ 61 ของเกษตรกรมีความสนใจประกอบอาชีพเสริมด้านปศุสัตว์/ร้อยละ 13 ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ประดับ/ร้อยละ 10 ปลูกพืชไร่/ร้อยละ 9 ทำประมง และอื่นๆ อีกร้อยละ 7 ได้แก่การแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความสำเร็จของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว รวมทั้งในวันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2559 นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะจะลงพื้นที่หารือแนวทางการแก้ปัญหาราคายางพาราร่วมกับเกษตรกรชาวสวนยาง ณ ที่ว่าการอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนการขับเคลื่อนคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่ผ่านมาได้ใช้เวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติของคกก.ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอเข้าครม.ภายในวันอังคารหน้า (12 มกราคม 2559)” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร ว่า ได้เชิญทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เกษตรกร และผู้ประกอบการ ร่วมแก้ไขราคายางพาราให้หยุดการลดต่ำลง ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพาราในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มี.ค. 59 คาดว่าจะมีปริมาณยางพาราประมาณวันละ 9,000 ตัน จึงได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการรับซื้อยางพาราในปริมาณสัดส่วนที่เคยรับซื้อจากอดีต และรับซื้อในราคาที่เหมาะสม โดยจะรับซื้อยางแผ่นดิบในราคาไม่ต่ำกว่า 33.50 บาท/กก. และน้ำยางสดในราคา 28.50 บาท/กก.

ด้านนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลไกสำหรับการดำเนินงานในปี 2559 โดยมีพรบ.การยางแห่งประเทศไทยเป็นหลักในการดำเนินงาน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 14 กรกฎาคม 2518 เป็นต้นมา จากนี้จากบทเฉพาะกาลจะเข้าสู่บทถาวรภายในวันที่ 14 มกราคม2558 โดยจะมีบอร์ดจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมบริหารงาน ได้แก่ ตัวแทนเกษตรกร 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น รวม 15 คน ซึ่งจะมีการแต่งตั้งประธานบอร์ดและเริ่มขับเคลื่อนการทำงานได้ทันที ทั้งนี้ ในกฎหมายกำหนดให้มีกองทุนพัฒนายางพารา (กองทุนระยะยาว) มีเงินหมุนเวียนซึ่งได้จากการเก็บเงินเซส ประมาณ 5,000 - 7,000 ล้านบาท/ปี เพื่อใช้สำหรับวัตถุประสงค์ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การบริหารงาน 2) สงเคราะห์เกษตรกรปลูกยางทดแทน 3) การใช้ยางภายในประเทศ 4) สนับสนุนองค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็ง 5) สวัสดิการเกษตรกร 6) การวิจัยและพัฒนายางพารา ทั้งนี้ครม.ได้เห็นชอบระเบียบหลักแล้ว ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นโดยตรงแก่เกษตรกรนอกจากเงินสวัสดิการที่จะได้รับ 7 % เปิดโอกาสให้องค์กรเกษตรกรและภาครัฐมีส่วนร่วมในการบริหารสวัสดิการร่วมกัน รวมทั้งการพัฒนาองค์กร สร้างความเข้มแข็งต่อระบบบริหารงานต่อไป