หนุนทัพแฟรนไชส์โกอินเตอร์ กรมพัฒน์เป้าเพิ่มอีก 100 ราย/ประเดิมพม่า-ปินส์

13 ม.ค. 2559 | 02:00 น.
กรมพัฒน์โอ่ผลงานเพียบ ปีวอกรุกหนักเน้นให้บริการรวดเร็ว โปร่งใส สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ เตรียมคัดแฟรนไชส์ไทยบุกตลาดอาเซียน ประเดิม 25 รายเจาะตลาดเมียนมา ฟิลิปปินส์ ตั้งเป้าเพิ่มอีก 100 รายหลังได้งบเพิ่ม มั่นใจโกอินเตอร์ได้ ส่วน 22 รายเดิมผลักจี้ขยายสาขาต่างประเทศเพิ่ม

[caption id="attachment_25947" align="aligncenter" width="420"] ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์[/caption]

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์(พณ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงทิศทางการทำงานของกรมในปี 2559 ว่า จะเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจการค้าในประเทศ โดยพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม สร้างสังคมผู้ประกอบการ สร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ธุรกิจ จากท้องถิ่น สู่ภูมิภาค และตลาดโลก

พร้อมกันนี้กรม มีนโยบายยกระดับนวัตกรรมการให้บริการ ลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เช่น e - Registration บริการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเป้าหมายผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แบบ Paperless (ไร้กระดาษ) อย่างสมบูรณ์ โดยมีกำหนดเปิดให้บริการ ในปี 2560, e - Filing บริการรับงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ มีเป้าหมายให้นิติบุคคลยื่นงบการเงินผ่านระบบ e-Filing ช่องทางเดียวภายในเดือนมกราคม 2559 , DBD e-Service Application บริการตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคล มีเป้าหมายให้บริการข้อมูลงบการเงินผ่าน DBD e-Service Application ภายในปี 2559 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ ปี 2559 – 2562

ทั้งนี้กรมมีโครงการสำคัญ ประจำปีงบประมาณ 2559 เช่น โครงการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นธุรกิจค้าส่งค้าปลีก จำนวน 3.440 พันราย (ค้าส่ง 85 ราย ค้าปลีก 3.355 พันราย),โครงการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการและสร้างโอกาสการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์,โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สมาคมการค้า โดยเป็นการสร้างความรู้ให้สมาคมการค้าจัดตั้งใหม่หรือสมาคมที่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ/ผู้บริหาร เป็นต้น

สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญของปีที่ผ่านมาที่กรมได้ผลักดัน เช่นการพัฒนาค้าส่ง ค้าปลีกซึ่งให้มีการบริหารจัดการที่ดีลดต้นทุนสินค้าคงคลัง สร้างร้านค้าส่งต้นแบบ 88 ราย เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้ร้านค้าปลีกในเครือข่าย 1.02 หมื่นราย ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ครอบคลุม 55 จังหวัด รวมทั้ง เชื่อมโยงเครือข่ายในห่วงโซ่อุปทานกับประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) มีการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทย-กัมพูชา 36 ธุรกิจ, ผู้ประกอบการไทย-ลาว 21 ธุรกิจ และผู้ประกอบการไทย-เมียนมา 11 ธุรกิจ ,การส่งเสริมแฟรนไชส์ ระบบการค้าที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถขยายธุรกิจได้โดยง่าย และลงทุนต่ำ โดยให้ความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์ (Franchise B2B) พัฒนายกระดับธุรกิจแฟรนไชส์สู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพซึ่งอ้างอิงมาตรฐานสากล Malcolm Baldrige และส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ ที่มีศักยภาพสู่ตลาดสากล (Franchise go Inter) โดยมีธุรกิจแฟรนไชส์สามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้ 22 ราย ใน 38 ประเทศทั่วโลก เน้นพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้มีการยกระดับการบริหารจัดการสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ 48 ราย และมาตรฐาน ISO 62 ราย

"ขณะนี้กรมกำลังคัดเลือกผู้ประกอบการแฟรนไชส์ของไทยที่ผ่านการฝึกอบรมและผ่านเกณฑ์มาตรฐานการทำธุรกิจแฟรนไชส์ออกไปขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน เบื้องต้นจะไปเจาะตลาดเมียนมาเดือนเมษายน และฟิลิปปินส์เดือนกรกฎาคม เนื่องจากเป็นตลาดที่มีโอกาส และที่ผ่านมา มีธุรกิจแฟรนไชส์หลายๆ ธุรกิจได้เข้าไปปักธงทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จมาแล้ว ประเดิม 25 ราย เจาะเมียนมา ฟิลิปปินส์ ก่อนขยายพาอีก 100 รายไปอาเซียนอื่น หลังได้งบเพิ่ม มั่นใจโกอินเตอร์ได้อีกจำนวนมาก ขณะที่ 22 รายเดิมได้ผลักดันให้มีการขยายไปประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น "นางสาวผ่องพรรณกล่าว

ปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่ขยายเครือข่ายไปยังตลาดต่างประเทศได้แล้ว 22 ธุรกิจใน 38 ประเทศ แยกเป็นอาหารและเครื่องดื่ม 11 ธุรกิจ บริการ 1 ธุรกิจ การศึกษา 3 ธุรกิจ ความและสปา 2 ธุรกิจ ค้าปลีก 5 ธุรกิจ จากปัจจุบัน ไทยมีผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์อยู่ 1.200 พันราย มีทุนจดทะเบียนรวม 7 หมื่นล้านบาท มีมูลค่าการตลาดทั้งระบบกว่า 2 แสนล้านบาท หรือประมาณ 9% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดในประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10-13 มกราคม พ.ศ. 2559