BEM ครบเครื่อง หุ้น Defensive - เติบโตสูง - ปันผล

12 ม.ค. 2559 | 23:00 น.
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ( BEM )เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างบมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) และบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ ( BMCL ) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายหลังการรวมร่าง วันที่ 5 มกราคม 2559 โดยไม่กำหนดราคาสูงสุดและต่ำสุด จากการคำนวณด้วยราคาปิด ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2558 ของ BECL ที่ 45.25 บาท และ BMCL ที่ 2.22 บาท ทำให้ได้ราคาหุ้น BEM ที่ 5.26 บาทต่อหุ้น

[caption id="attachment_25993" align="aligncenter" width="600"] ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ BEM 5 อันดับแรก ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2558 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ BEM 5 อันดับแรก ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2558[/caption]

อนาคตของ 2 บริษัท หลังควบรวมกิจการ จากการรวบรวมความเห็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ "มองบวก" ต่อหุ้น BEM ทั้งการเข้าสู่ยุคทองของธุรกิจตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังเป็นหุ้นที่ "ครบเครื่อง" ทั้งการเป็นหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจน้อย หรือ หุ้น Defensive, เป็นหุ้นเติบโตสูง หรือ Growth และเป็นหุ้นห่านทองคำ หรือหุ้นปันผล

บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทรีนีตี้ จำกัด ระบุว่า การควบรวมระหว่าง BECL และ BMCL เป็นการนำจุดเด่นของทั้งสองบริษัทแต่เข้ามาเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างบริษัทด้านคมนาคมที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเข้าประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานทั้งในและนอกประเทศ ด้วยจุดแข็ง 3 ด้าน คือ 1. ฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นเพื่อรองรับงานประมูลโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟฟ้า ทางด่วน และมอเตอร์เวย์ ที่คาดว่าจะสามารถเริ่มทยอยออกประมูลได้ในช่วงต้นปี 2559 นี้ 2. ศักยภาพในการบริหารจัดการระบบขนส่งครบทั้งระบบราง และทางด่วน และ 3. เพิ่มโอกาสเติบโตด้านการบริหารและพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้กับบริษัทลูกอย่าง BMN

บล.ทรีนีตี้ฯ ระบุด้วยว่า การผลักดันให้เกิดการประมูลที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ด้วยนโยบายให้เอกชนเข้ารวมลงทุน (PPP) ดังนั้นความพร้อมในด้านของเงินทุน และศักยภาพในการบริหารจัดการจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อโอกาสในการชนะงานประมูล ความแข็งแกร่งด้านฐานเงินทุนของ BEM จาก EBITDA ในธุรกิจทางด่วนปีละกว่า 6 พันล้านบาท และศักยภาพด้านการบริหารจัดการระบบขนส่งครบทั้งระบบราง และทางด่วน จึงตอบโจทย์รูปแบบการประมูลดังกล่าวได้อย่างชัดเจน อีกทั้งการเปิดสายสีม่วงในเดือนสิงหาคมนี้จะช่วยหนุนให้กระแสเงินสดของ BEM มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้สินต่อทุนจะปรับตัวลงมาอยู่ที่เพียง 0.8 เท่าในปี 2559 ดังนั้น BEM จึงมีความพร้อมเต็มที่

ทั้งนี้ ในปี 2559 นี้ BEM จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 2 เส้นทางบน (1) ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกราวไตรมาส 3/59 และ (2) รถไฟฟ้าสายสีม่วงในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้รายได้รวมขยายตัวได้เฉลี่ยถึงปีละ 25% และ กำไรในช่วง 5 ปีข้างหน้าเติบโตได้ถึง 32% ต่อปี

นอกจากนี้ด้วยจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนผู้ชมสื่อโฆษณาเคลื่อนที่ที่มากขึ้น จึงเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าของบริษัทลูกอย่าง BMN ค่อยๆ เติบโตขึ้น และจะเติบโตชัดเจนอย่างมากเมื่อการขนส่งมวลชนระบบรางครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างมากยิ่งขึ้น และมีโอกาสนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2562 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า

บทวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)ฯ ระบุว่า BEM เป็นหนึ่งในบริษัทที่พร้อมที่จะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของธุรกิจคมนาคมไทย ทั้งเรื่องโครงสร้างรายได้ที่มั่นคงจาก สัมปทานในมือมากถึง 7 ฉบับ และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นหลังการควบรวม และ BEM ถือเป็นหุ้นที่ครบเครื่องทั้งหุ้นที่มีปลอดภัยจากความผันผวนของเศรษฐกิจ เป็นหุ้นเติบโตสูง และหุ้นปันผล ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับนักลงทุนระยะยาว

ขณะที่ฝ่ายวิจัยฯ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย)ฯ คาดว่า BEM จะกลายเป็นหลักทรัพย์ในกลุ่มขนส่งที่ใหญ่รองลงมาจาก บมจ.ท่าอากาศยานไทยฯ(AOT) ที่ดำเนินธุรกิจบริหารสนามบิน และในอนาคตก็คาดว่าจะมีโอกาสสูงมากที่จะถูกจัดเข้าไปคำนวณใน SET50 ด้วยมูลค่าตลาด(มาร์เก็ตแคป) ที่สูงกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นลำดับที่ 41 ของหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปสูงสุดในตลาดหุ้นไทย จากปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ นำเข้าคำนวณใน SET100

อนึ่งผลการดำเนินงานของ BEM ในปี 2557 มีกำไรสุทธิ 2.74 พันล้านบาท จากปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 4.39 พันล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนปี 2558 มีกำไรสุทธิ 1.66 พันล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.81 พันล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10-13 มกราคม พ.ศ. 2559