ส่องแคนดิเดต‘ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.’ ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย

29 ม.ค. 2561 | 13:10 น.
หลังช็อกความรู้สึกคอการเมืองกับการสูญเสีย “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีตเลขาธิการอาเซียน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แคนดิเดต เบอร์ 1 ที่ประกาศแสดงเจตนารมณ์ทาง การเมืองอย่างชัดเจนว่า พร้อมจะ เป็นหนึ่งในผู้ท้าชิงเก้าอี้ “พ่อเมือง กทม.”

ถึงวันนี้วันที่ประเทศไทยนับถอยหลังเข้าสู่โหมดเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งท้องถิ่น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มชัดเจนว่า จะมีการเลือกตั้ง กทม.และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นรูปแบบอื่น “ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจเหล่าตัวเต็งจาก 2 พรรคใหญ่ที่มีโอกาสลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ได้ อย่างน้อย 3-4 รายชื่อ

++“กรณ์-องอาจ” ติดโผ ปชป.
เริ่มที่ “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งครองแชมป์ติดต่อกันมาหลายสมัย นับตั้งแต่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่นั่งเก้าอี้นี้ 2 สมัยติดต่อกัน ต่อด้วย ม.ร.ว.สุขุม-พันธุ์ บริพัตร อีก 2 สมัย ก่อนจะถูกปลดพ้นจากตำแหน่งด้วยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ยิ่งต้องเฟ้นหาขุนศึกคุณภาพคับแก้วมาลงสนามชิงชัย

หนึ่งในรายชื่อที่ผุดขึ้นมาเวลานี้ คือ “หล่อโย่ง-กรณ์ จาติกวณิช” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการเลือกตั้ง “พ่อเมือง กทม.” ครั้งที่ผ่านมา เขาคนนี้เคยแสดงความสนใจที่จะลงสมัครในนามพรรค แต่ท้ายที่สุดพรรคสนับสนุนชื่อของ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” มากกว่า ไม่แน่ว่าในครั้งนี้ กรณ์ อาจเสนอตัวอีกครั้งก็เป็นได้

TP14-3335-B สำหรับ กรณ์ เข้าสู่ถนนการเมืองจากการชักชวนของ “หล่อใหญ่-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เพื่อนนักเรียนเมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 7 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตยานนาวา และเขตสาทร บางแขวงของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนน 36,010 คะแนน สูงติด 1 ใน 4 ของ ส.ส.กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์เลยทีเดียว

บทบาทที่โดดเด่นมากที่สุด คือ ได้รับมอบหมายจากพรรคให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบการขายหุ้นชินคอร์ปของตระกูลชินวัตรและดามาพงษ์ ที่ถูกตั้งข้อสงสัยเวลานั้นว่า อาจเกี่ยวพันกับนายทักษิณ ชินวัตร ในประเด็นการซุกหุ้นและการเลี่ยงภาษี ทั้งยังได้รับเลือกสวมบทเป็น “รมว.คลังเงา” เพื่อติด ตามตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นอกจากนี้เขายังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงินการคลังและสถาบันการเงิน” สภาผู้แทนราษฎร 2 สมัยติดต่อกัน

กระทั่งเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตามข้อบังคับพรรค “กรณ์” ก็ได้รับเลือกให้ขึ้นแท่นดำรงตำแหน่งเป็น “รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” รับผิดชอบดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร

องอาจ คล้ามไพบูลย์ เป็นอีกคนที่สามารถลงชิงชัยสนาม กทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ได้ องอาจ นับเป็นบุคคลหนึ่งที่ทำงานการเมืองเริ่มจากท้องถิ่น โดยเริ่มจากการเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในเขตปทุมวัน มาก่อน และได้ไต่อันดับลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในนามของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 แต่ไปไม่ถึงฝัน ก่อนตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งโดยชนะการเลือกตั้งที่เขตบางกอกน้อย เมื่อปี 2539 และชนะการเลือกตั้งในพื้นที่เดิมมาอย่างต่อเนื่อง

728x90-03-3-503x62-3-503x62 ในการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขต 12 (บางกอกน้อย บางพลัด ตลิ่งชัน และทวีวัฒนา) เมื่อปี 2550 “องอาจ” สร้างสถิติชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 107,695 คะแนน ทั้งยังพาเพื่อนร่วมทีมซึ่งลงสมัคร ส.ส.เป็นครั้งแรก คือ นายชนินทร์ รุ่งแสง และผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก ชนะการเลือกตั้งแบบยกทีม ต่อมาในการเลือกตั้ง ปี 2554 องอาจได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อและได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.อีกสมัย

พลิกประวัติ องอาจ เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วมากมาย อาทิ เป็นเลขานุการและที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครระหว่างปี 2528-2532 เป็นเลขานุการส่วนตัว นายชวน หลีกภัย ขณะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2535-2538 ทั้งยังเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2540-2542 เป็นต้น

“อัศวิน” เล็งลงอิสระ
อีกคนที่มีชื่อติดลมบนเวลานี้ คือ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายตำรวจไทยคนแรกที่ขึ้นเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” แทน “ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์” ที่พ้นจากตำแหน่งจากคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ 64/2559

หลังจากเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.อัศวินได้รับความไว้วางใจเป็นพิเศษได้รับการแต่งตั้งให้เป็น“รองผู้ว่าฯกทม.” ต่อจากม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ซึ่งเวลานั้นยังนั่งเก้าอี้ ผู้ว่าฯกทม.ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจและการคลัง ดูแลงานสำนักเทศกิจ ดังนั้นในแง่ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.ต.อ.อัศวิน กับพรรคประชาธิปัตย์จึงเชื่อมโยงกันในสายตาและความรู้สึกของสาธารณชนทั่วไป

กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2561 “พล.ต.อ.อัศวิน” ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับกระแสข่าวจะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ว่า ขอใช้เวลาพิจารณาก่อน ถ้าตัดสินใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งก็อาจจะลงสมัครแบบอิสระไม่สังกัดพรรค การเมือง อาจลงแบบวันแมน โชว์ ทั้งยังระบุยํ้าด้วยว่า ไม่ได้เป็นคนที่มีความทะเยอทะยานมาก ตราบใดที่ยังเป็นผู้ว่าฯกทม.อยู่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดยืนยันว่าไม่ได้ทำงานเพื่อปูทางเข้าสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯครั้งต่อไป

“ตอนนี้อาจจะบอกว่า ทำงานดีแต่อีก 2-3 เดือนอาจจะบอกว่า ทำงานไม่ได้เรื่องก็ได้ ขอให้เวลาเป็นเครื่องชี้ขาดเพราะ เราไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองอะไรทั้งนั้น” พล.ต.อ.อัศวิน ระบุ

สำหรับผลงานชิ้นโบแดงของเขานั้น คือ การทวงคืนพื้นที่ป้อมมหากาฬเพื่อปรับปรุงเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ทางโบราณสถาน และการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยทั่ว กทม.

บาร์ไลน์ฐาน ++“ชัชชาติ” ติดโผในนาม พท.
ด้านพรรคเพื่อไทย (พท.) ชื่อของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เจ้าของฉายา “รัฐมนตรีที่แข็ง แกร่งที่สุดในปฐพี” ถูกพูดถึงในเวลานี้ว่า จะเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะร่วมประชันชิงชัยสนามนี้ในนามของพรรคเพื่อไทย

ย้อนกลับไป ชัชชาติ มีโอกาสชิมลางทางการเมือง เริ่มต้นทำงานให้คำปรึกษาโดยไม่มีตำแหน่งใดๆ แก่กระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 และรัฐบาลสมัคร กระทั่งในเดือนมกราคม 2555 ได้ถูกทาบทามจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นให้มาร่วมรัฐบาลเป็น “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม” ก่อนก้าวขึ้นเป็น “รมว.คมนาคม” ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน การขนส่งระบบราง ถือเป็นนโยบายที่เขาให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ รถไฟความ เร็วสูงในประเทศไทยโครงการระบบรถไฟชานเมือง นับเป็นโครงการที่รุดหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรี

ภายหลังการรัฐประหารของ คสช.ชื่อของ “ชัชชาติ” ก็เงียบหายไป ก่อนกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อมีชื่อติด โผเป็น 1 ในคณะกรรมการจัด ทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันเมื่อปี 2560 แต่เขาปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากไม่เข้าใจแนวคิดของคณะกรรม การชุดนี้ กระทั่งมีกระแสข่าวหนาหูออกมาล่าสุดว่า เขาเป็นหนึ่งในแคนดิเดตคนสำคัญที่จะลงสู้ศึกสนาม กทม. ในนามของพรรคเพื่อไทย

เมื่อปี 2557 “ชัชชาติ” เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเอาไว้สั้นๆ เกี่ยวกับแนวคิดและความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาทำงานในตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ว่า เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งการบริหารกทม.นั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถและโดยส่วนตัวแล้วเขาเห็นว่า มีอะไรให้ทำเยอะ...

หากปี่กลองการเลือกตั้งสนามผู้ว่าฯกทม.ดังขึ้นเมื่อใด ต้องรอดูว่าบุคคลเหล่านี้มีใครบ้างจะได้ลงสู้ศึก

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6-15 ++ลุ้นคสช.ปลดล็อก
คาดกันว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงกลางปี 2561 มีปฏิกิริยาจาก 2 พรรคใหญ่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พรรคไม่ได้เตรียมความพร้อมเรื่องการเลือกตั้ง กทม.เพราะยังไม่สามารถประชุมพรรคได้ ต้องรอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับออกมาเสียก่อน ในส่วนของผู้ว่าฯกทม.นั้น ได้เตรียมการหาผู้สมัครไว้แล้ว มีการพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการแต่ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ มีทั้งหน้าใหม่จากนอกพรรคและหน้าเก่าในพรรคที่สนใจลงสมัคร

“พื้นที่กทม.ถึงแม้จะเป็นพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เราก็ประมาทไม่ได้เพราะการเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจะต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดเพื่อที่จะให้เราสามารถเสนอตัวให้ประชาชนพิจารณาเพื่อให้เราได้เข้าไปทำงาน”

ด้านน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสาร สนเทศ แกนนำภาคกทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคมีความพร้อมที่จะตัดสินใจคัดเลือกส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.แต่ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ตามคำสั่งของ คสช.ต้องรอให้มีการปลดล็อกพรรค การเมืองให้เป็นรูปธรรมเสียก่อนถึงจะสามารถพูดถึงขั้นตอนต่อไปได้ โดยการคัดสรรตัวผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.เป็นขั้นตอนที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบของพรรค

ทั้งนี้ เห็นว่าผู้ที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ได้นั้น เบื้องต้นต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและต้องเป็นผู้ที่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุม และคณะกรรมการบริหารพรรคให้เป็นผู้สมัครในนามของพรรค

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,335 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว