‘การ์เมนต์-ทูน่า-ไก่’พึ่งจักรกล รับมือปรับค่าแรง-ขยายลงทุนต่างประเทศแทนไทย

01 ก.พ. 2561 | 06:17 น.
บิ๊กอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น “การ์เมนต์-ทูน่า-ไก่”ระบุปรับขึ้นค่าจ้าง ตัวเร่งหันใช้เครื่องจักรทดแทนคนมากขึ้น ค่ายใหญ่ไนซ์กรุ๊ป-ซีแวลู-ฉวีวรรณ เร่งแผนลดต้นทุนระยะยาว ที่ปรึกษาจัดหางานชี้เทรนด์ใช้พนักงานเอาต์ซอร์ซมากขึ้น

จากมติคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลางให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าทั่วประเทศอีก 5-22 บาท/วัน เป็น 308-330 บาทต่อ/วัน โดยกระทรวงแรงงานเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนมติอีกครั้งนั้น อย่างไรก็ดีในที่สุดแล้วต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างแน่ๆ สิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้คือนายจ้างจะปรับตัวรับต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างไร

นายประสพ จิรวัฒน์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไนซ์กรุ๊ปโฮลดิ้ง คอร์ป จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่สุดของประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันเครือมีโรงงานผลิตในประเทศ 4 แห่งกำลังผลิตรวมประมาณ 30 ล้านตัว/ปี ได้แก่ ที่นนทบุรี (ค่าจ้างขั้นตํ่าจะปรับขึ้นเป็น 325 บาท/วัน) ขอนแก่น (เป็น 320 บาท/วัน) นครราชสีมา (เป็น 320 บาท/วัน) และหนองบัวลำภู (เป็น 310 บาท/วัน) รวมคนงานกว่า 1.2 หมื่นคน จะได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินรายจ่ายต่อเดือนที่จะเพิ่มขึ้น คงหลักหลายล้านบาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตามผลกระทบการปรับค่าจ้างขั้นตํ่า รวมถึงผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่ามากในเวลานี้คงใช้เป็นเหตุผลในการเจรจาขอปรับขึ้นราคาสินค้ากับลูกค้ายาก ยกเว้นคู่แข่งขันในต่างประเทศขอปรับขึ้นราคากับลูกค้าทางเครืออาจขอปรับราคาด้วย เพราะไม่เช่นนั้นหากขอปรับราคาเพียงรายเดียวจะเสียโมเมนตัมในการแข่งขัน

TP08-3335-1A “คนงานของเครือทั้งหมดเวลานี้มีประมาณ 2 หมื่นคน แบ่งเป็นในไทย 1.2 หมื่นคน และในต่างประเทศ (กัมพูชา เวียดนาม จีน) อีก 8,000 คน ในการลดต้นทุนด้านแรงงานจากนี้ไปอยู่ระหว่างการวางแผนนำเครื่องจักร เช่น แขนกลต่างๆ มาใช้ควบคู่กับแรงงานคนมากขึ้น ส่วนในไทยยังไม่ขยายธุรกิจ แต่จะไปขยายในกัมพูชา และเวียดนามมากขึ้น”

ขณะที่นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยกล่าวว่า จากมีการปรับค่าจ้างขั้นตํ่าเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์) เพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในประเทศมีคนงานรวมกว่า 2 แสนคน ล่าสุดทางสมาคมอยู่ระหว่างการทำสำรวจแบบ สอบถามสมาชิกกว่า 380 บริษัท ถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างและผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่ามากมีผลต่อธุรกิจมากน้อยเพียงใด ซึ่งแนวทางการปรับตัวการ์เมนต์ส่วนหนึ่งคงขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น รวมถึงเจรจากับลูกค้าเพื่อขอปรับเพิ่มราคา และอนาคตต้องใช้เครื่องจักรใช้แทนแรงงานคนในบางส่วนของไลน์ผลิตมากขึ้น

728x90-03-3-503x62-3-503x62 นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มซีแวลู ผู้ผลิตและส่งออกทูน่ากระป๋องและอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากปลาทูน่ารายใหญ่ เผยว่า ค่าจ้างแรงงานถือเป็นต้นทุนที่สำคัญ ปัจจุบันทางกลุ่มมีคนงานรวมกว่า 1.26 หมื่นคน ตามแผน 5 ปีนับจากนี้ไป มีแผนลดใช้แรงงานคนลงเหลือ 8,000 คน และจะลงทุนนำเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ในบางไลน์ผลิตแทนแรงงานคนมากขึ้น

ขณะที่นางฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการบริหาร ฉวีวรรณกรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกไก่แปรรูปมีโรงงานที่ จ.ชลบุรี กล่าวว่า ค่าจ้างที่ชลบุรีจะปรับเป็น 330 บาท/วัน จากเดิม 308 บาท ปัจจุบันเครือมีคนงานรายวันกว่า 4,000 คน สัดส่วน 60% เป็นแรงงานต่างด้าวทั้งเมียนมา กัมพูชา ลาว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้จะทำให้เครือมีต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มอีก 22 บาท/คน/วันถือว่าสูงมาก และจะทำให้เครือมีรายจ่ายตรงนี้เพิ่มขึ้นอีกหลายล้านบาทต่อเดือน ทิศทางจากนี้คงต้องลงทุนด้านเครื่องจักรเพื่อใช้ทดแทนแรงงานมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,335 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว