คลังยันไม่รู้ธุรกิจกลุ่มเดวิสมีแค่2%ที่โอนจากปปง.จ่อขายหุ้นในQ1

25 ม.ค. 2561 | 09:50 น.
คลังยืนยันไม่รับรู้ธุรกิจของกลุ่มเดวิส เหตุถือหุ้นเพียง 2% และได้รับจากการโอนมาของปปง.ตามคำพิพากษาศาลฎีกา แจงอยู่ระหว่างดำเนินการขายหุ้นให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกปีนี้

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทในกลุ่มเดวิส 4 บริษัท ซึ่งทำธุรกิจอาบอบนวดว่า หุ้นทั้ง 4 บริษัท กระทรวงการคลังได้รับโอนมาจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยหุ้นของบริษัท เดวิส ไดมอนด์สตาร์ จำกัด จำนวน 10,000 หุ้น บริษัท เดวิส โคปา คาบานา จำกัด จำนวน 6,000 หุ้น บริษัท เดวิส โกลเด้นท์สตาร์ จำกัด จำนวน 7,446 หุ้น และบริษัท เดวิส ซิลเวอร์สตาร์ จำกัด จำนวน 10,000 หุ้น

piyaw

กระทรวงรับโอนหุ้นทั้ง 4 บริษัทเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกา และได้เปลี่ยนเป็นชื่อกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งตามการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกอบธุรกิจให้เช้าอสังหาริมทรัพย์ และรวมทั้ง 4 บริษัท มีสัดส่วนประมาณ 0.5-2% จึงไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือรับรู้ในการบริหาร รวมถึงไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆในช่วงที่ผ่านมาด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะจำหน่ายหลักทรัพย์ที่หน่วยงานของรัฐไม่จำเป็นต้องถือครอง คือ หุ้นที่ได้รับมาโดยนิติเหตุหรือยึดทรัพย์ หุ้นที่หมดความจำเป็นตามนโยบายของภาครัฐ และหุ้นในบริษัทในอุตสาหกรรมที่เอกชนดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว ทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)และที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลท. ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559

728x90-03-3-503x62-3-503x62

ทั้งนี้ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นในหลักทรัพย์ รวม 116 หลักทรัพย์ โดยเป็นรัฐวิสาหกิจ 23 หลักทรัพย์ กองทุนรวม 5 หลักทรัพย์ และบริษัทจำกัดอีก 88 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทที่ล้มล้างเลิกกิจการไปแล้ว 33 บริษัทที่จะต้องดำเนินการชำระบัญชีต่อไป ส่วนที่เหลืออีก 55 บริษัท จะดำเนินการขายออกไป โดยกลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มที่ได้มาจากการยึดทรัพย์ 24 แห่งและอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งรวมถึง 4 บริษัทดังกล่าวด้วย

“24 บริษัทที่เราจะขายกลุ่มแรก เป็นบริษัทที่มีมูลค่าน้อยมาก 20 บริษัท และอีก 4 บริษัทมีมูลค่าขนาดใหญ่ จึงต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน(เอฟเอ) เข้ามาตรวจสอบทรัพย์สินก่อน แต่ทั้งหมดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกปีนี้”นางสาวปิยะวรรณกล่าว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-11-503x62