‘มาสด้า’ชูไทยศูนย์กลางภูมิภาค ตั้งเป้า 5 ปี ยอดขายทะยาน 2 เท่า

27 ม.ค. 2561 | 04:13 น.
มาสด้ากางแผนบุกเต็มสูบ หลังขยายกำลังการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์จาก 3 หมื่นเครื่องเป็น 1 แสนเครื่อง พร้อมปักธงฐานการผลิตไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ฟุ้งภายใน 4 - 5 ปียอดขายในประเทศโต 2 เท่า ขณะที่ตลาดอาเซียนโต 1.5 เท่า

หลังจาก บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเป้าหมายยอดขายปี 2561 มากกว่า 60,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ที่ทำได้ 51,355 คัน โดยมีแผนงานสำคัญประกอบไปด้วย เปิดตัวรถรุ่นปรับโฉม 4 รุ่น, พัฒนาเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายให้เป็นรูปลักษณ์ใหม่, เพิ่มผู้แทนจำหน่ายอีก 12 แห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด, สื่อสารการตลาดด้วยการใช้ช่องทางที่เข้าถึงและใกล้ชิดลูกค้า พร้อมทั้งยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์ไฮบริด ที่เบื้องต้นได้เตรียมเม็ดเงินลงทุนประมาณ 11,400 ล้านบาท ซึ่งความคืบหน้าในตอนนี้อยู่ในระหว่างการพูดคุยกับบีโอไอ เพื่อดูเงื่อนไข ข้อกำหนด ข้อบังคับและกรอบของนโยบายนี้

นอกจากนั้นแล้ว มาส ด้ายังได้เพิ่มกำลังการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่โรงงานมาสด้า พาวเวอร์เทรน แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MPMT ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี และใช้งบประมาณกว่า 7.2 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจาก 3 หมื่นเครื่อง เป็น 1 แสนเครื่อง โดยจะป้อนให้กับฐานการผลิตที่โรงงานมาเลเซีย, เวียดนาม และโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ ในไทย

[caption id="attachment_253182" align="aligncenter" width="503"] โรงงานมาสด้า พาวเวอร์เทรน เมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) หรือ MPMT ที่ตั้งอยู่จังหวัดชลบุรี โรงงานมาสด้า พาวเวอร์เทรน เมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) หรือ MPMT ที่ตั้งอยู่จังหวัดชลบุรี[/caption]

ส่งผลให้ปัจจุบันโรงงาน MPMT มีการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สกายแอคทีฟคลีนดีเซล 1.5 ลิตร, สกายแอคทีฟเบนซิน 1.3 ลิตร และ 2.0 ลิตร (จะเริ่มผลิตกลางปี 2561 ) โดยการผลิตดังกล่าวแบ่งออกเป็นตลาดในประเทศ 80% และส่งออก 20% ขณะที่โรงงานผลิตเกียร์อัตโนมัติสกายแอคทีฟ มีกำลังการผลิต 4 แสนลูกต่อปี แบ่งเป็นการส่งออก 80% และตลาดในประเทศ 20%

“ไทยถือเป็นประเทศเดียวนอกเหนือจากญี่ปุ่นที่โรงงานสามารถผลิตทั้งชิ้นส่วนเครื่องยนต์,การประกอบรถยนต์ และผลิตเกียร์ โดยมาสด้ามองประเทศไทยเป็นยุทธศาสตร์การผลิตของมาส ด้าและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งทิศทางและแนวโน้มในตลาดนี้มีการเติบโตสูง เนื่องจากมีประชากรเป็นจำนวนมาก และมีความต้องการรถยนต์ในรุ่นต่างๆ โดยมาสด้าตั้งเป้าหมายว่าภายใน 4-5 ปีข้างหน้ายอดขายในอาเซียนที่ปัจจุบันมี 1 แสนคัน ก็จะเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และในประเทศไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว” นายมาซามิชิ โคไก ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาส ด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นฯ กล่าวและว่า

mp32-3334-1b สำหรับมาสด้ามีส่วนแบ่งการตลาดโลก คิดเป็น 3% แบ่งออกเป็นยอดขายที่มาจากตลาดอเมริกา 2 - 3 แสนคันต่อปี,ญี่ปุ่น 2 แสนคันต่อปี,จีน 2 - 3 แสนคันต่อปี, ยุโรป 2 แสนคันต่อปี และ ออสเตรเลีย 1 แสนคันต่อปี

นายโคไก กล่าวเพิ่มเติมว่า มาสด้าจะยกระดับฐานการผลิตในประเทศไทย ดังจะเห็นจากการลงทุนที่เกิดขึ้น ส่วนนโยบายที่รัฐบาลไทยให้ความสนใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ก็สอดคล้องกับทิศทางของทั่วโลกที่เน้นพลังงานสะอาด โดยมาสด้าก็ได้กำหนดทิศทางการพัฒนารถยนต์ตาม มัลติ -โซลูชัน ที่ต้องซัพพลายตลาดทั่วโลกได้ กล่าวคือ ต้องดูความเหมาะสมของเครื่องยนต์-เทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ,รถอีวี ว่าจะเหมาะสมกับแหล่งพลังงานของประเทศนั้นๆหรือไม่อย่างไร

ด้านนายมิตสึโนบุ มูไกดะ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า พาวเวอร์เทรน แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความพร้อมของโรงงานผลิตในไทย สามารถที่จะขยายไปสู่การผลิตประเภทเครื่องยนต์อื่นๆได้ในอนาคต แต่เบื้องต้นจะโฟกัสไปที่ 3 เครื่องยนต์หลักอย่าง สกายแอคทีฟคลีนดีเซล 1.5 ลิตร, สกายแอคทีฟเบนซิน 1.3 ลิตร และ 2.0 ลิตร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,334 วันที่ 25 - 27 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9