สรรพากรบี้ซ้ำเรียกภาษีย้อนหลัง-ค่าปรับ เอ็นจีโอนัดประชุมต้านปลด7บอร์ดสนับสนุนสุขภาพ

10 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
เครือข่าย สสส.นัดแถลงใหญ่วันจันทร์ที่ 11 มกราคมนี้ ข้องใจมาตรการตรวจสอบ-ปลดบอร์ด สสส.มีเบื้องหลังเงื่อนงำ คนรับทุน สสส.อ่วม ถูกตรวจซ้ำซ้อนจนค่างวดสะดุด ล่าสุดเจอสรรพากรเรียกชำระภาษีย้อนหลัง 5 ปีแถมค่าปรับ 6 เท่า ระบุเป็นการ "รับจ้างทำของ" ถือเป็นเงินได้ ตั้งการ์ดสู้เตรียมนัดเข้าพบอธิบดีสรรพากรก่อนฟ้องศาลปกครอง-ภาษี

ไม่เพียงระดับบริหารที่กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จำนวน 7 คน ต้องพ้นตำแหน่ง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 1/2559 ที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ที่จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงเวลานี้เท่านั้น ผู้รับทุน สสส.มาขับเคลื่อนทำงานในระดับพื้นที่ทั่วประเทศก็เดือดร้อนหนัก

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมของ สสส. เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เวลานี้ภาคประชาสังคมที่เป็นภาคีเครือข่าย สสส.เจอ 2 เหตุการณ์ซ้อน ประการแรกคือ การเบิกจ่ายงบ สสส.ที่ตั้งเบิกเป็นงวดๆ นั้นล่าช้าและยืดเยื้อมากว่า 4 เดือน หลายองค์กรต้องไปหาเงินทุนสำรองจ่ายไปก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าจ้างเงินเดือนคนทำงานโครงการย่อย ที่ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรงกับ สสส.โดยตรง ที่รับค่าจ้างรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายโครงการ ซึ่งอาจกระทบการดำเนินงานตามแผนงาน

ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลเข้าตรวจสอบการใช้งบของ สสส.แล้วมีมติไม่พบการทุจริต แต่ขอบเขตวัตถุประสงค์กว้างเกินไปจนไม่มีจุดเน้น ให้ไปปรับปรุงระเบียบใหม่ พร้อมสั่งให้คณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ตรวจและอนุมัติการเบิกจ่ายงบ สสส.ในโครงการที่มีวงเงินเกิน 5 ล้านบาททุกโครงการ โดย คตร.มีแบบฟอร์มการพิจารณาอนุมัติงบตามแบบงบประมาณแผ่นดิน ต่างไปจากแบบของสสส.ที่ทางโครงการต้องทำรายงานตามปกติอยู่แล้ว เป็นภาระให้ต้องทำรายงานเพิ่มเติม โดยบางรายการถูกตีกลับให้ชี้แจง บางรายการไม่อนุมัติ ทำให้การตั้งเบิกงบตามงวดค้างเติ่งดังกล่าว

"การที่งบไม่ผ่านการพิจารณาตามงวดงานปกติ ทำให้หลายโครงการเดินหน้าต่อไม่ได้ จะสังเกตได้ว่าการรณรงค์เรื่องเลิกบุหรี่ หรืองดดื่มเหล้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ของภาคประชาสังคมที่รับทุนจาก สสส.แทบจะไม่มีเลย เพราะไม่ได้รับอนุมัติเงินงวดดังกล่าว"

อีกกรณีล่าสุดเจ้าหน้าที่สรรพากรเขต มีหนังสือถึงผู้รับงานจาก สสส. ทุกโครงการ แจ้งเรียกประเมินภาษีย้อนหลัง 5 ปีพร้อมค่าปรับ 6 เท่า โดยระบุว่า ผู้รับทุนจาก สสส.ถือเป็นเงินได้ของบุคคลนั้นที่ต้องประเมินภาษี ทั้งที่ปกติการรับทุนจาก สสส.จะแยกส่วนของเงินค่าบริหารโครงการ ซึ่งเป็นค่าจ้างบุคลากร และมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายโครงการเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องใช้ตามแผนงาน

"สรรพากรชี้ว่าผู้รับทุนสสส.เป็นผู้รับจ้างทำงานให้สสส. และตีความว่าเงินทุนที่ได้เป็นรายได้ของผู้รับจ้าง ซึ่งเรายืนยันว่าไม่ใช่การรับจ้างทำของให้ สสส. แต่เราเป็นผู้รับงาน สสส.มาทำตามแผนงานที่เสนอไปขออนุมัติ และไม่ใช่องค์กรแสวงกำไร ซึ่งทำมานานหลายปี และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ก็มาตรวจสอบทุกปีไม่เคยมีปัญหา จนมาคราวนี้ที่สตง.ทำความเห็นว่าให้ถือเป็นเงินได้และให้สรรพากรไปประเมินภาษี"

นายคำรณกล่าวย้ำว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ดำเนินการอย่างรวบรัด ทั้งที่บอร์ด สสส.กำลังทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข แก้ไขระเบียบข้อบังคับหลายฉบับตามมติหน่วยงานตรวจสอบของรัฐบาลอยู่ เชื่อว่ามีเงื่อนงำเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนและผู้มีอำนาจ

ดังนั้น ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 20 เครือข่ายทั่วประเทศ จะจัดการประชุมใหญ่ตัวแทนเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในวันจันทร์ที่ 11 มกราคมนี้ เพื่อประกาศแนวทางและมาตรการเคลื่อนไหวในกรณีดังกล่าว ส่วนกรณีการเรียกประเมินภาษีนั้น ทางเครือข่ายฯ จะขอนัดเพื่อเข้าพบหารือกับอธิบดีกรมสรรพากรเร็วๆ นี้ หากไม่เป็นผลจะร้องต่อศาลปกครอง และศาลภาษีอากรต่อไป

อนึ่ง ปัจจุบันโครงการที่รับทุนจาก สสส.อยู่ระหว่างดำเนินการประมาณ 9.9 พันโครงการทั่วประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2559