เผาสถานทูตซาอุฯ สิ่งที่ไม่ควรทำ l โอฬาร สุขเกษม

08 ม.ค. 2559 | 03:45 น.
ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตนักโทษ 47 คนเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2559       ส่วนใหญ่นักโทษเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีหลายครั้งของกลุ่มอัล กออิดะห์ ระหว่างปี 2546-2549  และหนึ่งในจำนวนนี้ คือ นิมร์ อัล-นิมร์ ผู้นำชีอะห์ที่เคยเรียกร้องให้มีการชุมนุมสนับสนุนประชาธิปไตยในซาอุดีอาระเบีย เขาถูกจับกุมเมื่อปี 2555 และมีการประท้วงการจับกุมจนมีเหตุทำให้มีคนตาย 3 ราย ต่อมาศาลได้ตัดสินให้ประหารชีวิตเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ในข้อหาปลุกระดมในประเทศ ฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลสูงสุดปฏิเสธการยื่นอุทธรณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2558 และถูกประหารชีวิตต้นเดือนมกราคมปีนี้

การประหารชีวิตดังกล่าวทำให้ประชาชนในอิหร่านเพื่อนบ้านซาอุดีอาระเบียไม่พอใจ ลุกขึ้นประท้วงที่สถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงเตหะรานประเทศอิหร่าน  การประท้วงบานปลายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองของอิหร่านไม่สามารถควบคุมฝูงชนได้ จึงเกิดเหตุเผาและทำลายสถานทูตซาอุดีอาระเบียเสียหายอย่างหนัก อีกทั้งมีการบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ด้วย กว่าเจ้าหน้าที่อิหร่านจะเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ก็เกิดความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว

ด้วยเหตุนี้ซาอุดีอาระเบียจึงตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านในทันที สั่งขับทูตอิหร่านออกให้พ้นจากซาอุดีอาระเบียภายใน 48 ชั่วโมงนับจากวันที่ 3 มกราคม 2559  พร้อมงดการเดินทางและนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างกันไปด้วย จากนั้นหลายประเทศได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้โดยเรียกทูตของตนกลับประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรต  บาร์เรน และซูดาน เป็นต้น แต่การต่อต้านคำตัดสินของศาลซาอุดีอาระเบียยังกระจายออกไปในประเทศต่างๆ อยู่จนทุกวันนี้

ชายที่ชื่อ นิมร์ อัล-นิมร์ ที่จริงแล้วไม่ใช่คนอิหร่านแต่เป็นชาวซาอุดีอาระเบีย เกิดเมื่อปี 2511 ที่เมืองอาวามียะฮ์ รัฐโกตีฟ  ตะวันออกของประเทศซาอุดีอาระเบีย จบการศึกษาระดับมัธยมจากนั้นเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอิหร่านเพื่อศึกษาด้านการศาสนาที่สถาบันศาสนาเมื่อปี 2532  จากนั้นเดินทางไปศึกษาศาสนาต่อที่ประเทศซีเรีย ณ สถาบันการศึกษาศาสนา “ซัยนาบียะฮ์”  โดยศึกษาเรียนรู้หลักคำสอนศาสนาจากเหล่าอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันแห่งนี้ มีความสามารถในขั้นสูงสามารถวินิจฉัยศาสนาและเปิดสอนสถาบันศาสนาได้ ซึ่งเดิมที่สอนศาสนาทั้งในซีเรียและอิหร่าน ต่อมาได้กลับมาอยู่ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันอัลอิมาม กออิม ในเมืองอัลอาวามียะฮ์ บ้านเกิด นอกจากนี้ยังเป็นผู้สถาปนาสถาบันอิสลามในปี 2554 ด้วย

เดือนกรกฎาคม 2555 ถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงซาอุดีอาระเบียบุกจับขณะที่นั่งในรถยนต์ และยิงอาวุธเข้าใส่ทำให้นิมร์ อัล-นิมร์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ระหว่างถูกคุมขังก็มีผู้สนับสนุนและเกิดเหตุจลาจลเล็กๆ จนทำให้มีการบาดเจ็บล้มตายกันบ้าง เขาถูกตั้งข้อหาว่า เป็นผู้ก่อการร้าย แต่เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่ได้สนับสนุนการก่อความรุนแรงแต่อย่างใด กระทรวงมหาดไทยของซาอุดีอาระเบียว่าเขาอยู่เบื้องหลังการโจมตีร่วมกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยอื่นๆ ที่ระบุว่าทำงานในนามของมุสลิมชีอะห์อิหร่าน ซึ่งถือเป็นอริของซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งในซาอุดีอาระเบียและกล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย ความไม่สงบในซาอุดีอาระเบียระหว่างปี 2554 – 2556  มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนเสียชีวิตจากอาวุธปืนและระเบิดเพลิง และด้วยเหตุนี้ศาลจึงตัดสินให้ประหารชีวิตเสียในโทษฐานปลุกระดมประชาชน
ก่อนหน้านี้ นิมร์ อัล-นิมร์ ก็เคยถูกจับกุมมาแล้ว ถูกจับครั้งแรก เมื่อปี 2549  โดยกองกำลังความมั่นคงซาอุดีอาระเบีย ขณะที่เขาเดินทางกลับจากประเทศบาห์เรนในการเข้าร่วมประชุมสัมมนากุรอานระดับนานาชาติ   สาเหตุเพราะเรียกร้องให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียบูรณะซ่อมแซมและบำรุงศาสนถานบาเกียอ์ อีกทั้งยอมรับนิกาย “ชีอะฮ์” เป็นนิกายที่ถูกอย่างเป็นทางการ และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงรูปแบบการศึกษาที่มีอยู่ในซาอุดิอาระเบีย

ครั้งที่สองถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 23     ตุลาคม 2551    ณ  เมืองโกตียฟ์ โดยกองกำลังความมั่นคงซาอุฯ  ข้อหาปลุกระดมบรรดาชีอะฮ์ในซาอุดิอาระเบีย  พร้อมกับเรียกร้องให้ชีอะฮ์ในเขตตะวันออกของซาอุดิอาระเบีย เตรียมพร้อมเพื่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองและสิทธิทางสังคม  ทั้งนี้หลังจากที่หน่วยความมั่นคงซาอุฯ ได้จับตัวนิมร์ เพียงแค่ยี่สิบสี่ชั่วโมง ก็ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากกลัวการลุกขึ้นฮือและการลุกขึ้นต่อต้านอย่างกว้างขวาง ต่อมาในปี  2552   นิมร์ อัล-นิมร์ ก็ได้ถูกหน่วยความมั่นคงซาอุดิอาระเบียจับกุมตัวอีกครั้ง และครั้งหลังสุดถูกจับในเดือนกรกฎาคม 2555 โดยกองกำลังความมั่นคงฯ การจับกุมครั้งล่าสุดนี้ทำให้มีคนออกมาต่อต้านรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าดูแลสถานการณ์ และเกิดการบาดเจ็บไปหลายราย ส่วนหนึ่งเป็นเยาวชนซาอุดีอาระเบียด้วย

ยาตุลลอฮ์ คาเมเนอี ผู้นำการปฏิวัติอิสลาม ได้ประณามการก่ออาชญากรรมครั้งร้ายแรงของซาอุดิอาระเบียที่ได้ประหารชีวิต นิมร์ อัล-นิมร์ นักการศาสนาผู้มีความศรัทธาและผู้ถูกกดขี่  พร้อมกับย้ำถึงความจำเป็นของประชาคมโลกที่จะต้องรู้สึกรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมเหล่านี้ และการก่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ที่ก่อขึ้นโดยซาอุดีอาระเบีย เช่น ในเยเมนและบาห์เรน  เป็นที่ว่า แน่นอนโลหิตที่ถูกหลั่งอย่างไม่เป็นธรรมของชะฮีดผู้ถูกกดขี่ท่านนี้จะส่งผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งนักการเมืองของซาอุดิอาระเบียจะต้องได้รับโทษทัณฑ์และบทลงโทษแห่งการล้างแค้นครั้งนี้ ผู้ถูกกดขี่ท่านนี้ มิได้เรียกร้องประชาชนให้ลุกขึ้นมาจับอาวุธ และมิได้ดำเนินการแบบแอบแฝงในการใส่ร้ายป้ายสี  ทว่าการทำงานของเขาจะมีแต่การวิจารณ์อย่างเปิดเผย  ห้ามปรามสิ่งชั่วร้ายและส่งเสริมสิ่งดีงาม

ครับ ! เราได้พบเห็นข่าวสารหลายครั้งแล้วที่คนในประเทศหนึ่งไม่พอใจคนในประเทศหนึ่ง ก็ปลุกระดมคนไปยังหน้าสถานทูตของฝ่ายตรงกันข้าม และลงเอยด้วยการทุบทำลายข้าวของ หรืออย่างล่าสุด สถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงเตหะราน เมืองหลวงประเทศอิหร่านถูกชาวชีอะห์ที่ศรัทธา ใน นิมร์ อัล-นิมร์ ฝ่ายด้านรักษาความปลอดภัยบุกเข้าไปในเขตสถานทูตและเผาทำลายสถานทูตเสียหาย เมื่อวันที่ 2มกราคม 2559 ซึ่งเรื่องนี้เป็นเหตุบานปลายผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทันที แม้ว่าฝ่ายอิหร่านจะเคลียร์สถานการณ์ได้ในภายหลังก็ตาม ปรกติชาติที่เจริญแล้วเขาจะไม่มีพฤติกรรมแบบนี้ การแก้แค้นด้วยวิธีการแบบไร้ขีดจำกัดเยี่ยงนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง เราต้องสอนผู้คนของตนให้เข้าใจสถานะพิเศษทางการทูตไม่ว่าบุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นสิ่งที่ต้องห้ามในทุกสังคม การใช้ม็อบขับไล่ผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้ามาประชุมในระดับสากลก็เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรกระทำเช่นกัน

Photo credit: http://www.express.co.uk/