พาณิชย์ชวนเยอรมนีขยายการลงทุนฯใน EEC      

19 ม.ค. 2561 | 07:07 น.
-19 ม.ค.61-รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย  จะเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 22 ม.ค.61 เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง พร้อมหารือแนวทางการขยายการลงทุนที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูงที่เยอรมนีมีความโดดเด่น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า ในการเข้าพบของเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี(นายเพเทอร์ พรือเกิล)ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายสนใจจะหารือเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือการค้าการลงทุน เนื่องจากไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนานกว่า 156 ปี และเยอรมนีเป็นประเทศที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเยอรมนีเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 13 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป รวมทั้งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทย

ad-hoon ที่ผ่านมา ไทยและเยอรมนีไม่ได้มีเพียงความสัมพันธ์ทางการค้าเท่านั้น แต่ไทยและเยอรมนียังมีความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมการลงทุนและความร่วมมือในหลายมิติ อาทิ พลังงาน อาชีวศึกษา การวิจัยและพัฒนา และโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยลักษณะทางเศรษฐกิจของเยอรมนีที่เกื้อหนุนกับไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยี มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมขั้นสูง จึงจะใช้โอกาสการหารือครั้งนี้เชิญชวนเยอรมนีให้ขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ของไทย ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเยอรมนีเชี่ยวชาญ และอุตสาหกรรม New S Curve อาทิ สาขาการแพทย์ที่ครบวงจร และเคมีชีวภาพ รวมทั้งจะหารือถึงแนวทางการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ภายหลังมติคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 ให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยในทุกระดับอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในปี 2559 เยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับ 13 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป โดยมีมูลค่าการค้ารวม 10.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 5.19 โดยไทยส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น e-book