ปั้น‘ลำลูกกา’เทียบชั้นระเบียงเศรษฐกิจ

09 ม.ค. 2559 | 00:00 น.
ดีเวลลอปเปอร์/บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชี้พื้นที่ลำลูกกาและคลองหลวงขึ้นชั้นทำเลศักยภาพของกรุงเทพฯโซนเหนือ อนาคตระเบียงเศรษฐกิจเออีซี รับอานิสงส์รัฐลงทุนโครงข่ายคมนาคมครบทั้งรถไฟฟ้าและระบบถนน บ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮ้าส์ผุดขายเพียบ การเคหะฯ มีแผนพัฒนาเมืองบนที่ดิน 800 ไร่ที่ลำลูกกาคลอง 12ด้าน บขส.สนใจเตรียมใส่ชื่อเป็น 1 ใน 6 ทำเลที่ตั้งสถานีขนส่งกรุงเทพฯแห่งใหม่

[caption id="attachment_25231" align="aligncenter" width="600"] ตลาดที่อยู่อาศัยในอำเภอคลองหลวงและลำลูกกาปี 2558 ตลาดที่อยู่อาศัยในอำเภอคลองหลวงและลำลูกกาปี 2558[/caption]

จากการที่รัฐบาลขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ชานเมืองด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานครมีการเติบโตของที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบนถนนลำลูกกาปัจจุบันมีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายจำนวนมาก นอกจากนี้ในพื้นที่ยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่

 บ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮ้าส์พรึ่บ

นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงตลาดที่อยู่อาศัยในอำเภอลำลูกกาและอำเภอคลองหลวงว่า จากการสำรวจข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 พบว่า มีโครงการที่อยู่อาศัยที่ยังเปิดขายอยู่ในปัจจุบันมีทั้งหมด 99 โครงการ 20,679 หน่วย แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 92 โครงการ โครงการคอนโดมิเนียมอีก 7 โครงการ ที่เหลือเป็นอาคารพานิชย์และที่ดินเปล่า โดยมีอัตราการขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 61% โดยมีบ้านจัดสรรที่เปิดขายในระดับราคา 3 – 5 ล้านบาทต่อหน่วยมากที่สุด

สำหรับประเภทบ้านจัดสรรที่มีสัดส่วนเปิดขายสูงสุดคือ ทาวน์เฮ้าส์ จำนวน 8,379 หน่วย โดยระดับราคาที่มีสัดส่วนการเปิดขายสูงสุดคือระดับราคา 1.5-3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 72% ของจำนวนหน่วยทาวน์เฮ้าส์ ขณะที่ระดับราคาบ้านเดี่ยวที่มีจำนวนมากที่สุดคือ 3 - 5 ล้านบาทโดยมีมากถึง 64% จากจำนวนบ้านเดี่ยวที่เปิดขายอยู่ในปัจจุบัน 7,847 ยูนิต ในส่วนของคอนโดมิเนียมนั้นทั้งหมด 5 โครงการมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,738 ยูนิตขายไปได้ประมาณ 78% และเป็นคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายต่ำกว่า 1 ล้านบาทมากถึง 66%

"บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ในบริเวณนี้ได้รับความนิยมค่อนข้างมากมียูนิตที่ขายได้ใกล้เคียงกัน แต่อัตราการขายของบ้านเดี่ยวอาจจะสูงกว่า เพราะมีจำนวนหน่วยทั้งหมดในตลาดน้อยกว่าทาวน์เฮ้าส์ โดยบ้านเดี่ยวมีอัตราการขายประมาณ 61% ส่วนทาวน์เฮ้าส์มีอัตราการขายประมาณ 56% คอนโดมิเนียมมีอัตราการขายประมาณ 78% โครงการบ้านจัดสรรที่ยังคงเปิดขายอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เปิดขายตั้งแต่ปี2554 เป็นต้นมาในส่วนของคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่จะเปิดขายมากในปี 2556 โดยตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯตอนเหนือในอำเภอคลองหลวงและลำลูกกานั้น มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแม้โครงการรถไฟฟ้าต่างๆ จะไม่ได้ผ่านโดยตรงแต่ก็ไม่ไกลจากพื้นที่นี้มากนัก โครงการค้าปลีกต่างๆ ก็ขยายพื้นที่รวมทั้งมีโครงการขนาดใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตซึ่งจะทำให้เพิ่มศักยภาพในการเป็นทำเลที่อยู่อาศัยอีกแห่งหนึ่งนอกกรุงเทพฯ"

 โครงข่ายคมนาคมปัจจัยหนุนชั้นดี

นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ตอนเหนือและจังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามองอย่างมาก เนื่องจากภาครัฐและภาคเอกชนมีแผนการลงทุนที่ชัดเจน โดยภาครัฐจะมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบราง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วปานกลางและรถไฟความเร็วสูง การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และสายสีแดงส่วนต่อขยายรังสิต-ธรรมศาสตร์ โครงการรถโดยสารปรับอากาศพิเศษ (บีอาร์ที) โซนรังสิตโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เป็นอย่างดี โครงการปรับปรุงและขยายสนามบินดอนเมือง ที่คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเดินทางด้วยสายการบินโลว์คอสต์ ที่ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก ขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีแผนลงทุนพัฒนาโครงการก่อสร้างศูนย์การค้าแห่งใหม่ ได้แก่ เซ็นทรัล เอ็ม เมกา รังสิต และฟิวเจอร์ซิตี้

สอดคล้องกับที่นายอิสระบุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวถึงศักยภาพ พื้นที่กรุงเทพฯโซนเหนือว่า มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เหตุมีปัจจัยเกื้อหนุนอาทิ 1.เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีเขียวที่มีความคืบหน้า 2.การกลับมาเปิดใช้และขยายสนามบินดอนเมือง 3.เส้นทางคมนาคมทางถนนอย่างวงแหวนและมอเตอร์เวย์ครอบคลุมการเดินทาง 5.การขยายตัวของห้างสรรพสินค้าต่างๆ

 กานดาเล็งเปิดขายใหม่อีก 3โครงการ

ทั้งนี้ ในปี 2559 บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ มีแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่ 3 โครงการในพื้นที่กรุงเทพฯโซนเหนือ มูลค่ารวม 2.37 พันล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการไอลีฟ พาร์ค รังสิตคลอง 4 บ้านเดี่ยว-บ้านแฝด จำนวน 400 หน่วย โดยเปิดพรีเซลไปแล้วเมื่อช่วงปลายปีมียอดจองอยู่ที่ประมาณ 30 หน่วย ระดับราคา 2.49-5 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2559 2.โครงการไอลีฟ ทาวน์ ลำลูกกา คลอง 6 ทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น 4 ห้องนอนจำนวน 307 หน่วย ระดับราคา 1.59-2.2 ล้านบาท และ 3.โครงการ เดอะ เฟรช โฮม วงแหวน-ลำลูกกา คลอง 6 ทาวน์เฮ้าส์2 ชั้น 4 ห้องนอนจำนวน 214 หน่วย ระดับราคา 1.69-2.2 ล้านบาท

"เดิมบริษัทมีโครงการในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 3 โครงการ ปัจจุบันใกล้ปิดโครงการ ประกอบด้วย โครงการ เดอะ เฟรช โฮม คลอง 2 และ คลอง 3 และโครงการไอลีฟ พาร์ค ลำลูกกาคลอง 6 มูลค่าโครงการรวมประมาณ 2 พันล้านบาท และการที่บริษัทเปิดโครงการใหม่เพิ่มในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ประกอบกับสินค้าเดิมของบริษัทไม่มีในพื้นที่แล้ว ขณะที่ความต้องการซื้อสินค้าในระดับราคาดังกล่าวยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง"นายอิสระ กล่าว

 สัมมากรเตรียมผุดทาวน์โฮม

ขณะที่ นายกิตติพล กล่าวว่าปัจจุบันบริษัทมีโครงการบ้านเดี่ยวในโซนรังสิต-นครนายก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสัมมากรรังสิต คลอง 2 เหลือขายเพียงกว่า 20 หน่วย ราคาขายหน่วยละ 4-5 ล้านบาท รวมมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท มีจุดเด่นอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก ติดถนนใหญ่ ใกล้สาธารณูปโภค และศูนย์การค้าเพียวเพลส ซึ่งคาดว่าจะสามารถปิดการขายได้ภายในปี 2559 และโครงการสัมมากร รังสิต คลอง 7 ขนาดพื้นที่กว่า 200 ไร่ จำนวน 400 หน่วย ระดับราคาเฉลี่ย 5-7 ล้านบาท มูลค่าประมาณ 2.1 พันล้านบาท เบื้องต้นได้มีการพัฒนาเฟสแรกจำนวน 150 หลัง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ดังนั้นในปี 2559 บริษัทจึงพัฒนาเฟส 2 เพิ่มอีกจำนวน 20 หลัง ในแบบ 3 ห้องนอนและ 4 ห้องนอน ขนาดที่ดินเริ่มต้น 60 ตร.ว. และขนาดพื้นที่ใช้สอยเริ่มต้น 160 ตร.ม. โดยมีผู้สนใจเข้ามาจองสิทธิจำนวนมาก ซึ่งบริษัทจะเปิดขายอย่างเป็นทางการในไตรมาส 1/59 คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาโครงการเต็มพื้นที่ภายใน 4 ปี สำหรับแผนการพัฒนาโครงการในพื้นที่โซนเหนือนั้น บริษัทมีแผนจะโครงการทาวน์โฮมทำเลรามอินทรา-วงแหวน มูลค่าโครงการ 1 พันล้านบาท

"เหตุที่บริษัทขยับพื้นที่การพัฒนาในโซนเหนือให้มีความใกล้เมืองมากขึ้น เนื่องจากต้องการที่จะพัฒนาโครงการทาวน์โฮม เพราะราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวยากขึ้น เพราะการพัฒนาบ้านเดี่ยวจะต้องใช้ที่ดินขนาด 40-80 ไร่ ขณะที่ทาวน์เฮ้าส์ใช้ที่ดินประมาณกว่า 10 ไร่ ก็สามารถพัฒนาได้แล้ว อีกทั้งยังใช้เวลาในการพัฒนาสั้นกว่าโครงการแนวราบ" นายกิตติพล กล่าว

 การเคหะฯจ่อพัฒนาพื้นที่800ไร่

ด้าน ผศ.ดร.ธนภณ พันธเสน ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ดำเนินการศึกษาโครงการประยุกต์ใช้แนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด และ LEED ND เกณฑ์การพัฒนาของอเมริกา ในการวางผังแม่บทของการเคหะแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยในพื้นที่ 800 ไร่ที่ลำลูกกาคลอง 12 ว่า การเคหะฯมีวัตถุประสงค์จะหยุดยั้งการพัฒนาเมืองกระจัดกระจายของกรุงเทพฯ จึงมีแนวคิดจะพัฒนาโครงการแนวใหม่ และพื้นที่บริเวณลำลูกกามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัย และศูนย์รวมการเดินทางที่ชาญฉลาด ซึ่งจะสามารถช่วยยับยั้งการเติบโตอย่างกระจัดกระจายของเมืองจากพื้นที่ชั้นใน โดยถนนลำลูกกามีศักยภาพเป็นระเบียงเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนทั้งแนวตะวันออก-ตะวันตก และเหนือ-ใต้ ที่มีสนามบินนานาชาติดอนเมืองและมอเตอร์เวย์เป็นปัจจัยส่งเสริมด้านคมนาคมที่สำคัญ

"ทั้งนี้กรอบแนวคิดการวางผังและออกแบบโครงการของการเคหะฯ เรากำหนดการวางผัง ถนน สาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนการใช้ประโยชน์แปลงที่ดินเป็นรายแปลง ซึ่งในช่วง 1 ปีกว่าที่เราดำเนินการศึกษามีทางจังหวัด ภาคเอกชนและ สนข. เข้ามาให้ความร่วมมือในการระดมความคิดเห็น เพราะทุกคนเห็นว่าแนวคิดนี้มีประโยชน์ อยากจะให้เกิดขึ้น ทางรฟม.ก็พร้อมให้ความร่วมมือนำรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจากคูคตมาถึงลำลูกกา ซึ่ง รฟม.มีแผนอยู่แล้ว ต่อจากวงแหวนรอบนอกมาที่โครงการของการเคหะฯ ในเมื่อเรามีตัวเลขการคำนวณชัดเจนเป็นหลักฐานการศึกษา ทาง รฟม.ก็มีความมั่นใจว่าประชากรที่นี่เราคาดการณ์ไว้ 1.6 แสนคน ถ้าต่อขยายมาก็คุ้มแน่อยู่แล้ว แต่อาจจะเป็นระบบรางเบา"

 บขส.เตรียมลงสำรวจพื้นที่

นายนพรัตน์ การุณยะวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ และรักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดเผยว่า จากกรณีที่ บขส.ต้องย้ายสถานีขนส่งกรุงเทพจตุจักรในปี 2560 และเปิดให้เอกชนเสนอที่ดินให้ก่อสร้างสถานีขนส่งแห่งใหม่ย่านพหลโยธิน-รังสิต จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้พื้นที่ตามกำหนด ผู้บริหาร บขส.มีการหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินทรัพย์สินและที่ดินพบว่ามีที่ดิน 6 ทำเลที่มีความเหมาะสม ได้แก่ บางใหญ่ ลำลูกกา วัชรพล ถนนรามอินทรา วงแหวนรอบนอกรามอินทรา และสุวินทวงศ์-มีนบุรีมีความน่าสนใจในการใช้เป็นทำเลสำหรับก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่แทนสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพจตุจักรหากไล่เรียงความเหมาะสมแล้วจุดลำลูกกา-วงแหวนรอบนอก และจุดรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกน่าจะเป็นจุดที่มีความเหมาะสมเนื่องจากการเชื่อมโยงด้านการเดินทางที่ได้รับความสะดวก ไม่เกิดปัญหาจราจร

"จะมีการลงสำรวจพื้นที่ร่วมกันในเร็วๆนี้เพื่อให้เห็นจุดพื้นที่ชัดเจนโดยเฉพาะทำเลตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขตามที่บขส.ต้องการ หลังจากนั้นจึงจะมีการเจรจากับเจ้าของที่ดินเพื่อนำเสนอให้ผู้บริหาร บขส.และกระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติจัดซื้อเป็นสมบัติของบขส.โดยเร็วต่อไป"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559