นาโนฯเปิดแผนให้กู้ปี 59 ไม่อืด คลังเคาะแนวทางช่วยก่อนQ1

09 ม.ค. 2559 | 02:00 น.
คลังเดินหน้ากระทุ้งปล่อยกู้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ลั่นภายใน 2เดือนเห็นมาตรการเป็นรูปธรรม ทั้งลดหย่อนทุนจดทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ และดึงบสย.ค้ำประกันสินเชื่อนาโนฯ ด้านผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ "ไมด้า- เมืองไทยลิสซิ่ง-เงินติดล้อ" ตั้งเป้าปล่อยกู้ปีนี้ไว้ที่ 200 ล้านบาทต่อปี หลังปี 58 ยอมรับยอดให้กู้อืด ด้าน แมคคาเล กรุ๊พ" ให้กู้นาโนฯ ไม่เช็กเครดิตบูโร

นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยการเปิดให้ใบอนุญาต แก่ผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ (ปล่อยกู้วงเงินสูงสุดต่อรายไม่เกิน 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 36% ต่อปี) เป็นการปล่อยกู้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน แต่ปรากฏว่าทั้งปี 2558 ยอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์กลับไม่คึกคัก และส่วนใหญ่ยังเป็นการให้กู้แก่ฐานลูกค้าเดิมของบริษัทมากกว่าปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าใหม่ "ฐานเศรษฐกิจ"สำรวจผู้ประกอบการถึงเป้าหมายปล่อยกู้ คาดว่าการแข่งขันจะชัดเจนกว่าปีที่ผ่านมาแต่ไม่ถึงขั้นแข่งรุนแรง

ต่อกรณีดังกล่าว นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" กรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมพิจารณาลดหย่อนเงื่อนไขเรื่องทุนจดทะเบียนให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ จากปัจจุบันที่กำหนดทุนจดทะเบียนไว้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งเตรียมพิจารณากำหนดเงื่อนไขด้านทุนจดทะเบียนให้ต่ำกว่านั้นเพื่อเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาทำธุรกิจได้มากขึ้น และกรณีให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาร่วมค้ำประกันสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จะเห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมได้ภายใน 2 เดือนนี้

"มาตาการต่างๆที่จะมาช่วยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นั้น กำลังอยู่ในขั้นของการพิจารณานำเสนอ โดยในส่วนของการลดหย่อนทุนจดทะเบียน ทางสศค.มีตัวเลขทุนจดทะเบียนในใจอยู่แล้วว่าควรจะเป็นเท่าไร รอเสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังพิจารณาเห็นชอบ ส่วนกรณีดึงบสย.ร่วมค้ำประกันสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ขณะนี้ให้เจ้าหน้าที่ของสศค.และบสย.หารือกันถึงเงื่อนไข วิธีค้ำประกันและค่าธรรมเนียม โดยทั้ง 2 เรื่องจะเห็นเป็นรูปธรรมภายใน 2 เดือนนี้ ส่วนที่ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์มีข้อเสนอเรื่องให้ทางการปล่อยซอฟต์โลนให้นั้น เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณา" ผอ.สศค.กล่าว

สอดรับกับที่ นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย. กล่าวว่า ทาง บสย.มีการหารือกับกระทรวงการคลังในเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดของการเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อได้ เนื่องจากคลังพูดถึงในหลักการมาแล้ว แต่ยังต้องมีการศึกษาในรายละเอียดว่าจะไปในทิศทางใด คลังต้องการโฟกัสตรงไหน หรือกรณีบริษัทที่ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ซึ่งบสย.จะต้องเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เป็นต้น

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจผู้ประกอบการที่ให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ พบว่าภาพรวมตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าปี 2558 และมีแนวโน้มเห็นการแข่งขันในการปล่อยกู้ชัดเจนกว่าปีที่ผ่านมา

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (MTLS) ซึ่งเป็นบริษัทที่ยอดให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มากที่สุดในปี 2558 กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ไปรวม 130 ล้านบาท มีฐานลูกค้าประมาณ 7,000 ราย ขณะที่ในปีนี้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ไม่ต่ำกว่า 50% หรือคาดว่าจะมียอดปล่อยกู้ ประมาณ 200 ล้านบาท เช่นเดียวกับการตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อแต่ละประเภทที่บริษัทปล่อยกู้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สินเชื่อที่ดิน สินเชื่อบุคคล (เพอร์ซันนัลโลน) ที่ตั้งเป้าหมายปีนี้จะโตไม่ต่ำกว่า 50% จากฐานปี 2558

"คาดว่าแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อรถยนต์ในปีนี้จะเติบโตได้ดี เนื่องจากมีลูกค้ารายใหม่ และลูกค้าจากบริษัทคู่แข่งที่หันมาใช้บริการกับบริษัทจากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าและบริการดีกว่า ส่วนแนวโน้มตลาดรวมของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ปีนี้ ไม่มีผู้เล่นรายใหม่ที่ให้ความสนใจ โดยผู้ให้บริการก็ยังเป็นผู้เล่นรายเดิม และเมืองไทยลิสซิ่ง ก็ยังเป็นผู้ปล่อยกู้ที่มีส่วนแบ่งตลาดถึง 95% ในการให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อยู่ "นายชูชาติกล่าว

ด้านนายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด(มหาชน) หรือ JMT เปิดเผยว่าหลังจากที่บริษัทได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์มาแล้ว จะเริ่มให้บริการในไตรมาส 4 ปี 2558 โดยเจาะฐานลูกค้ากลุ่มคู่ค้าที่เป็นพาร์ตเนอร์ของเจมาร์ท และ ซิงเกอร์ (กลุ่มบริษัทแม่ คือ เจมาร์ท และ บ.ในเครือ คือ ซิงเกอร์) ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการรายย่อย อาทิ ขายมือถือ ร้านขายของชำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จนถึงสิ้นปี 2558 บริษัทฯเพิ่งปล่อยกู้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ไปแล้วเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น หรือเฉลี่ยปล่อยกู้รายละประมาณ 1 แสนบาท ส่วนเป้าหมายปี 2559 ตั้งเป้าปล่อยกู้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ไว้ที่ 200 ล้านบาท จากเป้าหมายปล่อยสินเชื่อรวมทั้งปีที่ 1 พันล้านบาท โดยอีก 800 ล้านบาท แยกเป็นการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล 500 ล้านบาทและสินเชื่อคาร์ฟอร์แคช 300 ล้านบาท

นายปิยะ กล่าวด้วยว่า หากบสย.เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จะมีส่วนช่วยให้ตลาดโต เพราะผู้ประกอบการที่ปล่อยกู้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยหากมาตรการที่บสย.จะเข้ามาค้ำประกันสินเชื่อนาโนฯ ออกมาชัดเจนแล้ว ทางบริษัทอาจมีการปรับกลยุทธ์ในการให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ รวมทั้งปรับเป้าปล่อยกู้ปีนี้เป็นมากกว่า 200 ล้านบาท

ขณะที่นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฏ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเงินติดล้อ จำกัด กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์สำหรับปี 2559 ไว้ที่ประมาณ 200 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละเกือบ 20 ล้านบาท จากปี 2558 ซึ่งบริษัทเริ่มปล่อยกู้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 จนถึงสิ้นปีปล่อยกู้ไปรวม 20ล้านบาท โดยฐานลูกค้าหลักยังเน้นไปที่กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า นอกจากนี้ มองว่าแนวโน้มธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ในปีนี้ ผู้ประกอบการยังต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เพื่อหาจุดที่คุ้มทุน เพราะนาโนไฟแนนซ์มีต้นทุนที่สูงมาก

นายสมชาย โฆศิริมงคล กรรมการผู้จัดการ บมจ.แมคคาเล กรุ๊พ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายปล่อยกู้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์สำหรับปี 2558 และปี 2559 ไว้ที่ 180 ล้านบาท โดยเริ่มปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา แต่จนถึงสิ้นปี 2558 มียอดปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ไปแล้วเพียง 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มองว่าภาพรวมการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ปีนี้ไปได้ ถ้าอยู่บนพื้นฐานของการทำตลาดของแต่ละบริษัท

ในส่วนของบมจ.แมคคาเล กรุ๊พเอง ยอมรับว่าเป็นหน้าใหม่ที่เข้ามาทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและนาโนไฟแนนซ์ ทำให้ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของลูกค้า จึงเน้นกลยุทธ์ขยายสาขาให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสาขาอยู่ 3 สาขา จะเพิ่มอีก 8 สาขาในปี 2559รวมแล้วเป็น 11 สาขา โดยเฉพาะ แถบปริมณฑล นอกจากนี้จะให้พนักงานลงพื้นที่ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยขยายฐานลูกค้าได้

ในการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการกับบริษัท จะไม่มีการเช็กเครดิตบูโร แม้ว่าจะมีความเสี่ยงของการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้( เอ็นพีแอล) แต่บริษัทได้ ประเมินความเสี่ยงดังกล่าวไว้แล้ว โดยสามารถรองรับเอ็นพีแอลได้สูงถึง 15 %

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559