แห่ผุดปั๊มชาร์จรถพลังไฟฟ้า EA ควง‘เบนซ์-BMW’ลุย

19 ม.ค. 2561 | 03:59 น.
เอกชนเดินหน้าขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยูและพลังงานบริสุทธิ์ (EA) ตั้งเป้าทั้งปีรวมกันกว่า 1,000 แห่ง จับตารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ไทยจ่อเปิดตัว ส่วนค่ายโตโยต้าท่องคาถาอีวียังอีกนาน ขอลุยไฮบริด คาดตลาดรวมปีนี้ 9 แสนคัน

แห่ผุดปั๊มชาร์จรถพลังไฟฟ้า EA ควง‘เบนซ์-BMW’ลุย แห่ผุดปั๊มชาร์จรถพลังไฟฟ้า EA ควง‘เบนซ์-BMW’ลุย เมืองไทยเริ่มแต่งตัวเข้าสู่ยุคใหม่ของยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีไฟฟ้า หรือในกลุ่มรถไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี ซึ่งรถ 2 ประเภทแรกยอดขายปีนี้มีแนวโน้มเติบโต ทั้งจากโตโยต้าที่ใส่เกียร์ลุยโครงการไฮบริดตามแพ็กเกจ การสนับสนุนใหม่ของรัฐบาล ประเดิมด้วย “ซี-เอชอาร์” ส่วน 2 ค่ายรถเยอรมนี เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็ม ดับเบิลยู ขยับไปที่รถแบบปลั๊ก-อินไฮบริดในทุกโมเดลหลัก

สำหรับโตโยต้า หลังเปิดให้ลูกค้าจองสิทธิ์ซื้อ “ซี-เอชอาร์” ล่วงหน้าตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3,000 คัน ใน จำนวนนี้แบ่งเป็นรุ่นไฮบริด 75% และเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร 25% โดยรถล็อตแรกจะเริ่มส่งมอบในเดือนมีนาคม ส่วนเป้าหมายการขายตั้งไว้ 2,000 คันต่อเดือน

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า การสนับสนุนของรัฐบาลไทย เน้นไปที่อีวีมากกว่าไฮบริด แต่กระนั้นรัฐบาลก็เข้าใจว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี จากรถเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่อีวี ซึ่งทางผ่านก็คือเทคโนโลยีไฮบริดที่เหมาะสมที่สุด

“อุปสรรคของอีวีคือ สถานีชาร์จไฟฟ้ายังไม่แพร่หลาย และระยะทางวิ่งจำกัดจากการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง เช่นเดียวกับแหล่งที่มาของพลังงาน ซึ่งเมืองไทยต้องวางแผนการผลิตไฟฟ้าให้มั่นคงและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะมาจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นยุคของอีวีจะค่อยๆ ขยับช้าๆ” นายซึงาตะ กล่าว

โตโยต้าคาดการณ์ว่ารถที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีไฟฟ้า (ไฮบริด,ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี) ในช่วง10 ปีนี้ สัดส่วนยังเป็นของไฮบริดถึง 80% ส่วนอีวีเชื่อว่าอีก 2 ปีข้างหน้าถึงจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น ส่วนตลาดรถยนต์เมืองไทยในปีนี้คาดว่าจะทำได้ 9 แสนคัน ในจำนวนนี้เป็นของโตโยต้า 3 แสนคัน เติบโต 25% เมื่อเทียบกับปี 2560

บาร์ไลน์ฐาน การเพิ่มจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากภาคเอกชนหลายราย ทั้งเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ประกาศเพิ่มจุดติดตั้งสถานีชาร์จอีกกว่า 80 แห่ง จากปัจจุบันมี 113 แห่ง ส่วนบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดตัว ChargeNow เครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะสำหรับรถพลังไฟฟ้าและรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด ประเดิม 50 แห่งทั่วประเทศ ล่าสุดบริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ตกลงพัฒนาธุรกิจและขยายจำนวนสถานีอัดประจุให้ครอบคลุมทั่วประเทศเช่นกัน

นายธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เพื่อรองรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาอันใกล้ บริษัทเตรียมขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครบ 1,000 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ ด้วยเงินลงทุน 600 ล้านบาท

728x90-03-3-503x62 (1) “ช่วงแรก น่าจะเป็นการทำเพื่อรองรับการบริการให้ลูกค้ามากกว่าการทำกำไร โดยภาคเอกชนจะร่วมขับเคลื่อนไปกับรัฐบาล พร้อมกระจายไปตามห้างสรรพสินค้า แหล่งชุมชน สถานีบริการนํ้ามัน มีทั้งแบบควิกชาร์จและนอร์มอลชาร์จ ขึ้นอยู่กับสถานที่ โดยสิ้นเดือนนี้จะเปิดได้ครบ 100 แห่งครอบคลุมเขตกรุงเทพและปริมณฑล” นายธนพัชร์ กล่าว

นอกจากการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีกระแสข่าวว่า กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์มีแผนทำรถพลังไฟฟ้า (อีวี) แบรนด์ไทย ถือเป็นธุรกิจของคนไทย 100% คาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2018 เดือนมีนาคมนี้

561000000625506 กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรจากไต้หวันที่โดดเด่นและก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเรื่องเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต่างจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นที่ยังขยับตัวช้าเพราะติดกับดักเทคโนโลยียานยนต์เดิมที่ลงทุนไปมหาศาล ขณะที่แบรนด์รถพลังไฟฟ้าจากจีนยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,332 วันที่ 18 - 20 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-7-503x62