การแข่งขันที่สูสี รถไฟความเร็วสูง VS เครื่องบิน

20 ม.ค. 2561 | 05:49 น.
รถไฟความเร็วสูงกำลังกลายเป็นทางเลือกใหม่และเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากขึ้นสำหรับเครื่องบินทั้งในภูมิภาคเอเชียและยุโรป เป็นการแข่งขันที่ขับเคี่ยวสูสีทั้งในแง่ราคาค่าโดยสาร และระยะเวลาการเดินทางในเส้นทางเดียวกัน ยิ่งเมื่อเพิ่มเหตุผลอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจก็อาจทำให้ผู้เดินทางหันมาใช้บริการรถไฟความเร็วสูงกันมากขึ้นด้วย เช่น รถไฟสร้างอากาศเสียน้อยกว่าเครื่องบินไอพ่นที่เผาผลาญนํ้ามันเชื้อเพลิง รวมถึงการได้เดินทางบนพื้นดินแล้วรู้สึกปลอดภัยกว่าสำหรับบางคนที่ไม่ชอบเดินทางบนอากาศ

โดยทั่วไปแล้ว รถไฟความเร็วสูงและเครื่องบินสามารถแข่งขันได้อย่างใกล้เคียงกันหากระยะการเดินทางไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 621 ไมล์ แต่หากไกลกว่านั้น ผู้คนจะมองว่าเดินทางด้วยเครื่องบินจะดีกว่าเพื่อประหยัดเวลา (จากงานวิจัยที่เผยแพร่ใน Journal of Advanced Transportation) อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใหม่ๆ อาจจะทลายข้อจำกัดดังกล่าวภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า จากแผนภูมิจะเห็นได้ว่า ในเส้นทางการเดินทางหลักๆหลายเส้นทางทั่วโลก รถไฟความเร็วสูงและเครื่องบินเป็นคู่แข่งที่สามารถแข่งขันกันได้

[caption id="attachment_250724" align="aligncenter" width="503"] รถไฟยูโรสตาร์ของอังกฤษ ที่ใช่ในการเดินทางจากลอนดอนไปยังปารีส รถไฟยูโรสตาร์ของอังกฤษ ที่ใช่ในการเดินทางจากลอนดอนไปยังปารีส[/caption]

++ยิ่งแข่ง คนยิ่งเดินทาง
ระยะเวลาในการเดินทางเป็นปัจจัยสำคัญเมื่อเราพูดถึงความสามารถในการแข่งขันของการเดินทางด้วยยวดยานพาหนะรูปแบบต่างๆ เคยมีงานวิจัยในยุโรปเมื่อปี 2014 ที่ระบุว่า ในเส้นทางที่การเดินทางด้วยรถไฟใช้เวลานานกว่า ก็จะมีบริการเที่ยวบินมากกว่าในเส้นทางเหล่านั้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิดที่ว่า รถไฟสามารถเข้ามาแทนที่เครื่องบินได้ถ้าหากว่าระยะเวลาการเดินทางและค่าโดยสารเท่ากันหรือดีกว่า (เมื่อเทียบกับเครื่องบิน) แต่ปัจจุบัน สถานการณ์จริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น และเกมการแข่งขันก็ไม่ใช่ว่าจะมีผู้ชนะแค่ฝ่ายเดียวและอีกฝ่ายต้องแพ้ เพราะในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นในจีน เกาหลีใต้ และยุโรปตะวันตกหลายประเทศ ที่มีการใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้น กลับพบว่าในหลายเส้นทาง การมีบริการรถไฟความเร็วสูงในราคาที่คนทั่วไปสามารถจับต้องได้มาเป็นคู่แข่งกับเครื่องบิน กลับช่วยกระตุ้นให้มีความต้องการเดินทางเพิ่มมากขึ้น และทำให้มีการเพิ่มบริการของสายการบินมากขึ้นด้วย คล้ายๆ กับกรณีการผุดเที่ยวบินขึ้นมากมายของสายการบินราคาสุดประหยัดทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ที่ทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลง และกระตุ้นให้มีการเดินทางมากขึ้น ไม่ว่ารถไฟหรือเครื่องบินต่างก็ได้อานิสงส์นี้

[caption id="attachment_250726" align="aligncenter" width="503"] รถไฟฟ้าซิงของจีน เดินทางจากปักกิ่งไปยังเซี่ยงไฮ้ ด้วยความเร็ว 351 กม. ต่อ ชม. รถไฟฟ้าซิงของจีน เดินทางจากปักกิ่งไปยังเซี่ยงไฮ้ ด้วยความเร็ว 351 กม. ต่อ ชม.[/caption]

ธุรกิจการรถไฟยุคใหม่มีการเติบโตอย่างฟูเฟื่องมากที่สุดในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงรวมระยะทางยาวที่สุดในโลก นอกจากนี้ จีนยังมีรถไฟความเร็วสูงมากที่สุด และมีแผนขยายเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่จะเป็นโครงการใหญ่ต่อไปในอนาคต หนึ่งในเส้นทางที่มีความต้องการเดินทางมากที่สุดในโลก คือ ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ กำลังจะมีบริการรถไฟความเร็วสูง ฟู่ซิง (Fuxing) ที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบริการด้วย ความเร็วสูงสุดถึง 218 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 351 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ความเร็วที่เพิ่มขึ้นนี้ช่วยให้การเดินทางระหว่างปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีระยะทาง 775 ไมล์ (1,247 กิโลเมตร) และมีผู้โดยสารราวปีละ 100 ล้านคนต่อปี ลดระยะเวลาเดินทางลงเหลือเพียง 4 ชั่วโมง 28 นาที

ขณะที่รถไฟความเร็วสูง ที่เรียกกันว่า รถไฟหัวกระสุน “ชินคันเซ็น” ของญี่ปุ่น ซึ่งมีมายาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 1960 และเป็นพาหนะเดินทางประจำวันยอดนิยม ด้วยความเร็วประมาณ 199 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ทำให้การเดินทางบนเส้นทางยอดนิยมอย่างโตเกียว-โอซากา หดเหลือเพียง 2 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น และจำนวนผู้โดยสารก็เพิ่มขึ้นอย่างมากตามไปด้วย กลายเป็นเส้นทางที่มีการเดินทางมากที่สุดเส้นหนึ่งซึ่งไม่ใช่เฉพาะทางราง แต่โตเกียว-โอซากา ยังเป็นเส้นที่มีเที่ยวบินทุกชั่วโมงมากที่สุดด้วย โดยมีสายการบินใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นหลายสายใช้เครื่องบินลำใหญ่อย่าง โบอิ้ง 767, 777 และ 787 ให้บริการบนเส้นทางที่ใช้เวลาบินเพียง 70 นาที

TP10-3332-A ++บริการที่ส่งเสริมกัน
ในปี 2558 คนจีน 910 ล้านคน เดินทางด้วยการขนส่งระบบรางทุกรูปแบบ นับว่ามากกว่า 2 เท่าของคนที่เดินทางด้วยเครื่องบินที่มี 415.4 ล้านคน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่อนาคตของเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถไฟจะอยู่ที่ประเทศจีน รถไฟแม็กเลฟ (Maglev) หรือรถไฟพลังแม่เหล็กความเร็วสูง (ชื่อมาจากคำว่า Magnetic Levitation ซึ่ง Magnetic = ระบบแม่เหล็ก และ Levitation = การลอยตัว, ยกตัว ลักษณะการทำงานคือใช้สนามแม่เหล็กมายกให้รถไฟลอยอยู่บนราง รวมทั้งใช้ไฟฟ้าเหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็กเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนและหยุดรถ) ขบวนแรกของจีนให้บริการอยู่ในเซี่ยงไฮ้ สามารถเดินทางด้วยความเร็ว 267 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในอนาคตวิศวกรจีนกำลังจะทำให้รถไฟแม็กเลฟวิ่งได้ที่ความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 373 ไมล์ต่อชั่วโมง (600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งถ้าทำความเร็วได้ถึงขั้นนั้นก็จะพลิกโฉมการเดินทางทางบกและทางอากาศไปอย่างสิ้นเชิง

728x90-03 รศ.ยู่ จาง จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาธ์ฟลอริดา ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างรถไฟความเร็วสูงและเครื่องบิน เปิดเผยว่า เมื่อเวลาผ่านไป สายการบินของจีนและผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูงจะพัฒนาตัวเองต่อไปจนสุดท้ายทั้งราคาโดยสารและบริการจะขยับมาใกล้เคียงกัน “เมื่อราคารถไฟความเร็วสูงลดลงมา สายการบินได้รับผลกระทบ แต่เราก็ไม่ได้เห็นว่าจำนวนผู้โดยสารลดลงมามากอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับแต่ละเส้นทาง”

ในยุโรป รถไฟความเร็วสูงยูโรสตาร์วิ่งจากลอนดอนไปปารีสและบรัสเซลส์ มีผู้โดยสารกว่า 10 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ปัจจุบันค่าโดยสารเริ่มที่ 29 ปอนด์ ลดลงจากเดิมที่มีราคา 79 ปอนด์ นักวิเคราะห์กล่าวว่า เครื่องบินและรถไฟสามารถเติมเต็มความต้องการของผู้เดินทางและสามารถเสริมบริการให้กันและกัน โดยรถไฟมักจะเข้าถึงจุดศูนย์กลางเมืองใหญ่ ขณะที่สายการบินมักเลือกใช้สนามบินเมืองรองเพื่อประหยัดต้นทุน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,332 วันที่ 18 - 20 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9