หวั่นปมขัดแย้งอิหร่าน-ซาอุฯ ทำราคานํ้ามันดิ่งในระยะยาว

08 ม.ค. 2559 | 14:00 น.
ราคาน้ำมันผันผวนรับสัปดาห์แรกของปี 2559 เมื่อซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรชาติอาหรับซึ่งรวมถึง บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และซูดานในแอฟริกาซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่เช่นเดียวกับซาอุดิอาระเบีย ทั้งตัดและลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านหลังเกิดเหตุฝูงชนชาวอิหร่านบุกทำลายและเผาทรัพย์สินของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำกรุงเตหะราน เพื่อตอบโต้กรณีที่ซาอุฯสั่งประหารชีวิตนักโทษ 47 คนข้อหาเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งในจำนวนนั้นมีเชค นีมร์ อัล-นีมร์ ครูสอนศาสนานิกายชีอะห์คนสำคัญรวมอยู่ด้วย การประหารเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา

ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตะวันออกกลางส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเกือบ 3 % เมื่อวันจันทร์ (4 ม.ค.) เมื่อเปิดตลาดก่อนจะปรับราคาลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 37 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

แม้ว่าก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯและอิหร่านจะระหองระแหงมายาวนาน แต่การประหารเชค นีมร์ อัล-นีมร์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นประเด็นจุดชนวนความขัดแย้งที่เริ่มจะลุกลามขยายขอบเขตไปในประเทศอื่นๆของตะวันออกกลาง และนักวิเคราะห์ก็มองว่าหากความขัดแย้งลุกลามและยืดเยื้อออกไป จะส่งผลในระยะยาวต่อราคาน้ำมันดิบเนื่องจากทั้งซาอุฯและอิหร่านเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอีกทั้งยังเป็นประเทศผู้ก่อตั้งองค์การโอเปคอีกด้วย

โดยปกติหากมีกรณีความขัดแย้งเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มถีบตัวสูงขึ้นเนื่องจากผู้ค้าเกรงว่าปริมาณน้ำมันที่ถูกส่งออกจากภูมิภาคที่มีความขัดแย้งจะได้รับผลกระทบ ซึ่งในครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 ม.ค.) ราคาน้ำมันดิบซื้อขายล่วงหน้าตลาดสหรัฐอเมริกา ราคาพุ่งขึ้นไปเหนือ 38 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่หากมองในระยะยาว มีความเป็นไปได้ว่าการตัดสัมพันธ์ทางการทูตที่ยืดเยื้อจะส่งผลในทางตรงข้าม นั่นคือราคาน้ำมันจะถูกกดดิ่งลง สาเหตุเนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อทั้งซาอุฯและอิหร่านบาดหมางกัน ทั้งคู่ก็จะเลิกให้ความร่วมมือกันในการดันราคาน้ำมันให้ขยับสูงขึ้นในเวทีโอเปค ไม่เพียงเท่านั้น มีแนวโน้มว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้ ทั้งสองประเทศคู่กรณีจะยิ่งเร่งเพิ่มการผลิตน้ำมันออกมา ซึ่งนั่นก็หมายความถึงปริมาณน้ำมันดิบที่จะล้นออกมาสู่ตลาดมากขึ้น กดราคาให้ต่ำลงไปอีก

ในปี 2558 ราคาน้ำมันโลกลดลงไป 35 % สู่ระดับต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับตั้งแต่ที่โลกประสบวิกฤตทางการเงิน ในอิหร่านเอง การผลิตน้ำมันถูกกดดันโดยสภาวะที่นานาชาติใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน แต่กระนั้นอิหร่านก็ยังมีแผนผลิตน้ำมันให้มากขึ้น โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2559 นี้ ซึ่งนั่นเป็นข่าวร้ายสำหรับซาอุดิอาระเบียที่กำลังพยายามรักษาส่วนแบ่งของตัวเองในตลาดน้ำมันแม้จะต้องรักษาไว้ด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงมากก็ตาม

ทั้งนี้ ท่าทีล่าสุดของโอเปคซึ่งมีซาอุดิอาระเบียเป็นแกนนำ ยังคงปฏิเสธที่จะลดปริมาณการผลิตลงมาเพื่อพยุงราคาน้ำมันให้สูงขึ้น เป้าหมายก็เพื่อจะรักษาส่วนแบ่งในตลาดที่มีคู่แข่งสำคัญเป็นประเทศผู้ผลิตจากภูมิภาคอื่นซึ่งรวมทั้งสหรัฐอเมริกาที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559