ลั่น!แบงก์ไทยทิ้งระยะห่างการเมือง นายธนาคารสุมหัวถก 'อี-เพย์เมนต์'

08 ม.ค. 2559 | 15:00 น.
สมาคมธนาคารไทยนัดสรุปความคืบหน้าอี-เพย์เมนต์ 8 มกราคมนี้ /นายแบงก์คาดท้ายที่สุดค่าธรรมเนียมบริการทั้งโอน-จ่ายเงินจะปรับลดลงอัตโนมัติ เหตุผู้เล่นรายใหม่ร่วมวงแข่งขัน /เผยปัจจุบันโครงสร้างรายได้ 35% เป็นรายได้จากปีที่เหลืออีก 65% มาจากดอกเบี้ย "วรภัค" ลั่นแบงก์ไทยควรมีระยะห่างจากการเมือง เพื่อความโปร่งใส

[caption id="attachment_25432" align="aligncenter" width="319"] สุภัค ศิวะรักษ์ สุภัค ศิวะรักษ์[/caption]

ดร.สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยถึง ความคืบหน้ายุทธศาสตร์แผนพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์(National e-Payment)ว่า ปัจจุบันสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กอยู่ระหว่างพูดคุยในการหาแนวทาง ซึ่งในวันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2559 นี้ จะมีการประชุมร่วมกันเพื่อสรุปความคืบหน้า ขั้นตอนการดำเนินงาน และอุปสรรคต่างๆ

อย่างไรก็ดีเรื่องโครงการ Any ID นั้นภาคธนาคารทุกธนาคารมีความพร้อมเรื่องของบัญชีอยู่แล้ว เพียงแต่ภาครัฐต้องการให้มีการเชื่อมระบบในการชำระเงินร่วมกันและให้มีความรวดเร็วของโครงการ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท ITMX เป็นตัวกลางหรือศูนย์กลางในการเชื่อมอยู่แล้ว เหลือแต่เพียงธนาคารแต่ละแห่งสร้างระบบไปต่อท่อกลาง จึงไม่น่าจะมีปัญหา ดังนั้น โจทย์หลักของระบบอี-เพย์เมนต์ที่รัฐบาลต้องการ จะเป็นการลิงก์เบอร์โทรศัพท์ บัตรประชาชน เชื่อมต่อกับบัญชีธนาคาร เนื่องจากรัฐบาลต้องการสร้างระบบชำระเงินที่สามารถส่งตรงไปถึงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ชาวนา เป็นต้น ส่วนเรื่องการวางจุดชำระเงินที่คลอบคลุม อาจจะต้องอาศัยบริษัท ITMX เป็นตัวกลางที่จะวางตัวเครื่อง เพื่อให้บัตรที่จะนำมาใช้สามารถใช้ได้ทุกเครื่อง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของเครื่องรูดบัตร EDC ของธนาคารได้ ส่วนโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมหลังจากที่มีระบบอี-เพย์เมนต์นั้น ที่ผ่านมา ธปท.พูดหลายครั้งว่าค่าธรรมเนียมบางส่วนคิดในอัตราสูงเกินไป เช่นที่ผ่านมาธนาคารได้ปรับลดค่าติดตามทวงถามหนี้ไปแล้ว และในท้ายที่สุดค่าธรรมเนียมในเรื่องของบริการ การโอนเงิน จ่ายเงิน จะปรับลดลงเองอัตโนมัติด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น เพราะจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้น เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น นอนแบงก์ หรือเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นต้น โดยรายได้ค่าธรรมเนียมที่จะสูงขึ้น จะเป็นการบริการที่ใช้ทักษะ เช่น การเป็นที่ปรึกษาการเงิน หรือการขายผลิตภัณฑ์กลุ่มลงทุน เป็นต้น ดังนั้น สาขาของธนาคารขนาดกลางและเล็กจะไม่มีความจำเป็นมากในระยะต่อไป เพราะทุกคนจะใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

"โครงสร้างรายได้ของธนาคารปัจจุบันจะเฉลี่ยอยู่ที่ 35% รายได้ค่าธรรมเนียม และที่เหลือ 65% รายได้จากดอกเบี้ย ซึ่งอาจมีบางธนาคารที่ค่าธรรมเนียมสูง 40% แต่โครงสร้างค่าธรรมเนียมของธนาคารที่เห็นว่ามีอัตราสูงในบางรายการ เพื่อนำไปเกลี่ยกับค่าธรรมเนียมบางรายการที่ต่ำ"

ขณะเดียวกันนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวเสริมว่า ภายใต้แผนระยะ 5 ปีของสมาคมธนาคารไทย ซึ่งธนาคารกรุงไทยรับหน้าที่ดูแลในเรื่องของ Code of Conduct ที่จะเน้นเรื่องของความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ป้องกันการฟอกเงินหรือคอร์รัปชั่น และหมุนตามโลกให้ทันท่วงที เนื่องจากจะเห็นว่าธนาคารต่างประเทศจะไม่มีการข้องเกี่ยวกับบุคคลทางการเมือง เพราะหากมีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อสถานการณ์พลิกทุกอย่างจะพลิกตามไปด้วย

ดังนั้นสถาบันการเงินไทยควรทำสินเชื่อให้ห่างไกลจากนักการเมือง เพื่อความโปร่งใส ซึ่งในส่วนของสินเชื่อกลุ่มอุปโภคบริโภคไม่น่าจะมีปัญหา แต่สินเชื่อธุรกิจอาจจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ขณะที่คณะทำงานร่างแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ที่ธนาคารกรุงไทยทำด้วย จึงสามารถนำมาประยุกต์ ซึ่งเหลือขั้นตอนที่ยาก จะเป็นเรื่องของการนำมาปฏิบัติ

สอดคล้องกับนายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ที่ระบุว่า แผนใหญ่ที่จะทำให้ระบบอี-เพย์เมนต์สำเร็จได้ คือ จะต้องทำให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลาย เพราะความกลัวของผู้บริโภคจะเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องแก้ไข เช่น กลุ่มชาวนา ที่มีบัตรและมีวงเงินทั้งหมดอยู่ในบัตร หากเกิดทำบัตรหาย หรือยังไม่รู้วิธีใช้บัตรในลักษณะไปแตะ โดยไม่จำกัดวงเงินในบัตร ทำให้เงินไหลออกหมด ซึ่งปัญหาตรงนี้จะอย่างไร นับเป็นปัญหาทางเทคนิคที่จะต้องแก้ไข เพื่อให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ดีในส่วนของธนาคารกสิกรไทย ได้จัดตั้งบริษัท KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP หรือ KBTG ที่จะเข้ามาทำงานที่เน้นในเรื่องของสายไอที-เทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่น และสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเองในอนาคต ซึ่งบริษัท KBTG ถือเป็นการต่อยอดจากยุทธศาสตร์ เค-ทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่เริ่มต้นโครงสร้างพื้นฐาน หรือสร้างกล้ามเนื้อไว้ โดยบริษัท KBTG จะมาเป็นตัววิ่งในสเต็ปต่อไป

อนึ่ง สำหรับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของสมาคมธนาคารไทยนั้น จะมี 5 ส่วนสำคัญ โดยจะมีผู้บริหารธนาคารแบ่งหน้าที่ดูแลในแต่ละด้าน คือ 1.การวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเข้าสู่ระบบการชำระเงินยุคใหม่ ผู้รับหน้าที่ นายยศ กิมสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานไอที บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย 2.การเข้าถึงแหล่งเงินอย่างทั่วถึงและสนับสนุนเศรษฐกิจที่แท้จริง จะเป็นนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ 3.การตอบแทนคืนสู่สังคม จะเป็นนายปรีดี ดาวฉาย และนายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย 4.การเตรียมตัวสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) การรวมตัวสู่ระดับภูมิภาค ผู้รับหน้าที่ดูแล นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ และ 5.อำนวยความสะดวกด้านกฎหมายและกฎระเบียบ ผู้รับผิดชอบ นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย นอกจากนี้ยังมีเรื่อง การบริหารจัดการและการศึกษาของทรัพยากรบุคคล ผู้รับผิดชอบ นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารธนชาต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559