ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ยังมีลุ้นเปิดแผนลงทุนปีนี้

13 ม.ค. 2561 | 12:10 น.
โครงการ “ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน” แม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือในการศึกษาความเป็นไปได้ด้านการลงทุนพัฒนาพื้นที่ซึ่งล่าสุดองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ได้ทยอยส่งรายละเอียดผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมรับทราบเป็นระยะๆ แต่หากจะเปิดประมูลหรือแผนการลงทุนชัดเจนเมื่อไหร่นั้น ยังคงมีลุ้นกันว่าจะสำเร็จในรัฐบาลคสช.นี้หรือไม่

โครงการดังกล่าวนี้จะฉายภาพชัดในรูปแบบการพัฒนาเมืองรอบสถานีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง ล่าสุดนั้นโครงการ “ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน” ได้นำเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีความเห็นกรณีที่จะให้มีการย้ายสถานีขนส่งของบริษัทขนส่งจำกัด(บขส.) ออกไปจากพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ภายในให้เหมาะสม จะเป็นเมืองใหม่รองรับความเป็นศูนย์กลางระบบราง แต่กระทรวงคมนาคมควรจะมีการศึกษากรณีที่จะย้ายสถานีบขส.ไปอยู่บนอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงของรถไฟฟ้าบีทีเอสให้ชัดเจนก่อน

นอกจากนั้นควรมีมาตรการรองรับอย่างชัดเจนและเหมาะสม ดังนั้นสถานีบขส.ปัจจุบันจะเหลือเพียงชานชาลาที่จะเป็นสมาร์ทเทอร์มินัล มาแปะไว้กับสถานีกลางบางซื่อ ให้สามารถรองรับรถบขส.ได้ราว 50 คัน เพื่อให้ผู้โดยสารออกมารอรถ ไม่ต้องการให้รถมาจอดรอผู้โดยสาร ประการสำคัญสถานีกลางบางซื่อจะต้องเป็นแกรนด์สเตชัน แล้วให้บขส.และรถขสมก. เป็นฟีดเดอร์แทน

TP12-3330-3 สำหรับพื้นที่ย่านพหลโยธินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีเนื้อที่ประมาณ 2,325 ไร่ ปัจจุบันพบว่ามีกิจกรรมดำเนินการที่หลากหลาย เป็นแหล่งพาณิชยกรรม มีตลาดที่บริหารจัดการโดยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) และตลาดนัดจตุจักรเป็นเมนหลัก แวดล้อมไปด้วยสวนสาธารณะจำนวน 3 แห่ง

ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวนี้กำลังได้รับการผลักดันและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกรุงเทพฯ ให้เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางทุกระบบ โดยเฉพาะระบบรางทุกรูปแบบ ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟความเร็วสูง และรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางระบบรางแห่งใหม่แทนสถานีหัวลำโพง

“ศูนย์พหลโยธิน” มีแนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน ตามแนวคิด TRANSIT ORIENTED DEVELOPMENT :TOD ให้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง และมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อนำรายได้มาพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทางภายในพื้นที่โครงการ โดยเบื้องต้นนั้นจะเชื่อมต่อการเดินทางภายในพื้นที่โครงการด้วยทางเดินเชื่อมต่อ เป็นแกนแนวเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมกับสถานีขนส่งมวลชนทางรางโดยรอบพื้นที่ อาทิ สถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต หรือสถานีกำแพงเพชรและ
สถานีสวนจตุจักรของรถไฟฟ้า MRT หรือรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีนํ้าเงิน นอกจากนั้นยังมีแผนก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรอง (ฟีดเดอร์) ให้เติมเต็มการเดินทางได้
ครบสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยรถโดยสารด่วนพิเศษ บีอาร์ที สามารถจุผู้โดยสารได้มากถึง 3,000-8,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง

ปี 2561 นี้ยังคงมีลุ้นกันอีกเฮือกว่าศูนย์คมนาคมพหลโยธินพื้นที่กว่า 2,000 ไร่นี้จะเกิดเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในย่านพหลโยธิน อาทิ แปลง A-B-C-D ของสถานีกลางบางซื่อหรือพื้นที่บริเวณกิโลเมตรที่ 11 คิดเป็นมูลค่าหลักหมื่นล้านบาทซึ่งกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จ้องกันตาวาวนั้นจะได้รับการเปิดประมูลได้หรือไม่ นักลงทุนและผู้คนทั่วไปยังคงต้องจับตามองกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9