2561 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง 'เลือกตั้งท้องถิ่น-ระดับชาติ'

05 ม.ค. 2561 | 11:45 น.
“ปี 2561 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยน แปลงไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล มีการวางพื้นฐานด้านการปฏิรูป ทั้งระบบราชการ การปฏิรูปกฎหมาย วิธีการทำงาน และเพิ่มขีดความสามารถให้ส่วนราชการต่างๆ เน้นการส่งเสริมการประกอบอาชีพภาคเกษตร การแก้ปัญหาด้านการบิน ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) การแก้ไขปัญหาประมง (IUU) ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งหวังว่า หลังจากแก้ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น”

ขณะที่ด้านการเมือง นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า “ยังคงเดินหน้าตามโรดแมปที่กำหนดไว้ แม้จะมีการผ่อนปรนงานธุรการของพรรคการเมืองได้ แต่ต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งพรรคใหญ่และพรรคเล็ก และขอให้ลดแรงกดดันทางการเมืองลง ผมยังจำเป็นต้องรักษาสถานการณ์ทางการเมืองให้เรียบร้อยต่อไป”

เป็นพรปีใหม่ ที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้คำมั่นกับคนไทย ดูผิวเผินเหมือนแถลงผล งานกลายๆ แต่จะเป็นรูปธรรมในปีสุดท้ายของรัฐบาลหรือไม่ มีมุมมองต่างจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่มองว่าประเทศไทยปีจอ ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมนัก ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

[caption id="attachment_246788" align="aligncenter" width="394"] คมสัน โพธิ์คง คมสัน โพธิ์คง[/caption]

++“ประวิตร” สายล่อฟ้า
นายคมสัน โพธิ์คง รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหา วิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์การเมืองในปีนี้ว่า ในระยะ 2-3 เดือนจากนี้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ภาพรวมรัฐบาลค่อนข้างจะอาการหนัก มีกระแสต่อต้านหลายเรื่อง เป้าอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แม้จะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญออกมาแล้วก็ตาม แต่ตัวรัฐบาลโดยเฉพาะ คสช.ยังคงภาพอย่างนี้ ปี 2561 ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ขณะที่การปฏิรูปก็เดินหน้าไม่ได้ เพราะนโยบายการปฏิรูปถูกล็อกด้วยยุทธศาสตร์ชาติ คนวางยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่คนปฏิรูป และคนวางยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่มีความรู้เรื่องปฏิรูป

“การปลดล็อกการเมือง ก็ได้แค่การเมือง แต่เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ภาวะมันถดถอยทุกเรื่อง ถ้าอยู่นานแบบทำอะไรคนก็อยากให้อยู่ต่อ ประชาชนก็ต้องทำใจ เพราะต้องเผชิญสภาวะอย่างนี้ไปพักใหญ่ๆ แต่ผมก็รู้สึกมุ่งหวังว่าการเลือกตั้งจะทำให้ดีขึ้น แต่รัฐบาลต้องมีมือดีๆ เข้าไปทำงาน ที่มีอยู่พิสูจน์แล้วว่าไปไม่รอด”

ปี 2561 รัฐบาลคงอยู่ในภาวะทรงๆ อย่างที่เห็น แต่สิ่งที่เร่งเร้ารัฐบาลและมีกระแสไม่พอใจมากขึ้นคือ เรื่องเศรษฐกิจ ทำให้คาดหวังไม่ได้ทั้งเรื่องการเมือง และเศรษฐกิจ

[caption id="attachment_246789" align="aligncenter" width="390"] วีระศักดิ์ เครือเทพ วีระศักดิ์ เครือเทพ[/caption]

++เลือกตั้งท้องถิ่นครึ่งปีหลัง
ขณะที่ นายวีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นมีโอกาสเป็นไปได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 เพราะมีการปลดล็อกให้การเมืองผ่อนคลาย แต่ถ้าดูรูปการณ์แล้วเข้าใจว่ารัฐบาลอาจจะให้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จเรียบร้อยในช่วงครึ่งปีแรก จึงไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือมีการหาเสียงโจมตีกันในช่วงนี้ ประเมินว่าน่าจะเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก่อน ส่วนกทม.และพัทยา อาจเลือกตั้งที หลัง เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ที่อาจไม่ยอมปล่อยในช่วงแรกๆ ทั้งผู้บริหารของ กทม.และเมืองพัทยา ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งมา ยังไม่ได้โชว์ฝีมือเต็มที่

“เกมการเลือกตั้งท้องถิ่นวันนี้ ไม่ได้เกิดจากเจตนารมณ์ให้เกิดการกระจายอำนาจจริงๆ แต่เป็นเครื่องมือในการเดินเกมทางการเมืองอย่างหนึ่งของการ เมืองระดับชาติ ที่คสช.กำหนดยุทธศาสตร์ให้ชนะการเลือกตั้งได้ อันนี้เป็นเพียงหมากตัวหนึ่ง ไม่มีเจตนาคืนอำนาจให้ท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งทีมเสนาธิการเขาเก่งมากที่คิดยุทธศาสตร์นี้ได้ ถ้าเขาเดินตามเกมการเมืองปกติโดยการเลือกตั้งระดับชาติก่อน โอกาสที่จะไม่สำเร็จสูง เพราะ 1. ดิวกับพรรคการเมืองเดิมไม่ค่อยสำเร็จ ต้องไปตั้งพรรคใหม่ 2. ผลงานรัฐบาลไม่ค่อยเข้าตาชาวบ้าน แก้ปัญหาหลักๆ ไม่ค่อยได้ จึงลองยั่งเสียงระดับ อบจ.ก่อน เพื่อให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ แล้วค่อยมาติดตามผลอีกทีว่า จะทำให้เกิดความแน่นอนของการเมืองระดับชาติมากขึ้นอย่างไร”

นอกจากนั้น หากจัดเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะยืดการเลือกตั้งระดับชาติออกไป สมมติยืดไปถึงต้นปีหรือปลายปี 2562 ปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ หลายเรื่องอาจผ่อนคลายด้วยตัวของมันเอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องทำอะไร ก็เป็นไปได้

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่และมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2561 คือ รัฐบาลจะมีการรวมอำนาจมากขึ้น เพราะปีหน้าเป็นปีสำคัญรัฐบาลไม่ยอมให้เกิดความวุ่นวายแน่ อะไรที่ทำให้เกิดความวุ่นวายเขาจะจัดการแบบเบ็ดเสร็จ คล้ายๆ กับกรณีม็อบเทพา และคาดว่าจะมีคนมาทดสอบกระแสนี้ หลังปีใหม่นี้คงได้เห็น ซึ่งรัฐบาลก็คงให้เกิดความวุ่นวายไม่ได้ ฉะนั้นคนไทยอาจจะเห็นนายกฯประยุทธ์ หงุดหงิดมากขึ้น ในครึ่งปีแรก เมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลใหม่เสร็จสิ้นแล้ว บรรยากาศจะผ่อนคลาย ส่วนผลงานรัฐบาลก็ยังทรงๆ อยู่” อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ สรุป

[caption id="attachment_246787" align="aligncenter" width="437"] ยุทธพร อิสรชัย ยุทธพร อิสรชัย[/caption]

++หวั่นเลื่อนเลือกตั้ง
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มองว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะยังไม่มีความชัดเจนหลายอย่าง อาทิ การเลือกตั้งยังไม่ชัดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 หรือไม่ การปฏิรูปต่างๆ ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม แม้แต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วก็ยังแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ การปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำธุรการ ก็ให้เฉพาะพรรคใหม่ พรรคเก่ายังทำไม่ได้
ขณะที่การเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ยังไม่ชัดว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่เรียบร้อยแท้จริงหรือไม่ เพราะถ้าไม่เรียบร้อย จะทำให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งระดับชาติออกไปอีก อีกทั้งกว่าจะได้ “7 เสือ กกต.” ต้องตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบ กว่าจะโหวต เร็วสุดปลายมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561

จากนั้นต้องเลือกผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ซึ่งจะได้ก็ราวพฤษภาคม ถ้าจะเลือกตั้งตามโรดแมปเดือนพฤศจิกายน ต้องถอยออกไปอีก 150 วัน หรือ 5 เดือน ประมาณพฤษภาคม 2562 ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเลื่อน ระดับชาติก็อาจเลื่อนตาม ถ้าเลือกตั้งแล้วอาจบริหารจัดการไม่ลงตัว ก็จะเป็นอุปสรรคทำให้การเลือกตั้งระดับชาติเลื่อนไปด้วยเช่นกัน

“รัฐบาลเลื่อนโรดแมปมาหลายครั้งแล้ว ณ ชั่วโมงนี้ คิดว่า คนในสังคมอาจจะไม่เชื่อ ดังนั้นต้องทำให้เป็นรูปธรรม รัฐบาลต้องเดินหน้าเต็มรูปแบบ มีมาตรการอะไรต้องชัดเจน ไม่ใช้วาทกรรมอย่างเดียว”

พร้อมระบุว่า ถ้ามีการเลือกตั้งตามโรดแมป อาจจะมีปัญหาหลังเลือกตั้งอีก เป็นความขัดแย้งที่วนกลับมารอบใหม่ เพราะมีโอกาสที่คนจะไม่ยอมรับกติกาเลือกตั้ง ปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ส่งผลให้เกิดปมความขัดแย้งเพิ่มเติมมาอีก โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม เป็นส่วนใหญ่ อาจจะเกิดความเคลื่อนไหวอีก

“เมื่อสังคมไม่เห็นภาพการเมืองที่ชัดเจน ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้น จะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้จะมีเงินจับจ่ายใช้สอยก็ตาม โอกาสที่จะให้เกิดความชะงักงันทางเศรษฐกิจมีสูง ตัวเลขทางเศรษฐกิจระดับมหภาคที่เราเห็นว่าดีขึ้น มันกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มทุนบางกลุ่ม ไม่ได้กลับสู่ประชาชนอย่างแท้จริง”

**หวังเลือกตั้งทุกอย่างดีขึ้น
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีตส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า สถาน การณ์ปัจจุบันที่เป็นตัวเร่งที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลก็คือปากท้องประชาชน ทุกคนคิดตรงกันและหวังว่าถ้าได้ประกาศวันเลือกตั้งเมื่อใด สภาพคล่องทางด้านเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น คนจะกล้าจับจ่ายใช้สอย ตอนนี้ทุกคนเกร็งกันหมด คนที่มีตังค์ก็ไม่ยอมใช้ คนไม่มีก็ไม่มีอยู่แล้ว ทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจมันถดถอยไป เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อใดที่ชัดเจนว่าประกาศวันเลือกตั้งทุกอย่างจะดีขึ้น

“จริงๆ แล้วการเลือกตั้งก็ไม่ใช่เป็นยาทิพย์จากสวรรค์วิมานอะไร เพียงแต่ทุกคนคิดตรงกันว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วระบบเศรษฐกิจทุกอย่างจะดีขึ้น ก็เป็นความหวังหนึ่งของประชาชนที่หวังว่าการเลือกตั้งจะมาตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้ การที่นายกฯประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 คิดว่านายกฯไม่ได้พูดเล่น หรือไม่ได้ซี๊ซั๊วพูด แสดงว่าต้องประเมินสถานการณ์โดยรวมแล้ว มีการระบุระยะเวลาที่เขียนไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และดูทิศ ทางทุกอย่างแล้ว จึงมีคอมเมนต์ออกมาว่าจะเลือกตั้งพฤศจิกายน 2561”

อดีตส.ส.สงขลากล่าวอีก ว่า หากมองในภาพของพรรค การเมืองที่จะลงเลือกตั้งก็คงมีทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ที่จะเข้าไปในสภา มันคงไม่มีพรรคหนึ่งพรรคใดได้เสียงข้างมาก คงหนีไม่พ้นรัฐบาลผสมมากกว่า พรรคใหม่ก็อาจจะเป็นพรรคที่ประกาศตัวว่าเชียร์ทหารก็คงมี

สิ่งที่สำคัญหลังได้รัฐบาล เลือกตั้งมาก็คือ จะมีตัวแทนของประชาชน อย่างน้อยมีคนฟังปัญหาเขา จะแก้ หรือไม่ได้แก้ ก็เป็นอย่างที่เห็น ปัญหาของเมืองไทยไม่ได้แก้ง่ายๆ ติดโน่น ติดนี้ ติดเอ็นจีโอ ติดกฎหมายมากมาย ปีหน้าจึงน่าจะมีความหวังของชาวบ้าน ที่อย่างน้อยมีตัวแทนของเขาที่สามารถพูดคุยกันรู้เรื่อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9