'QR Code' แรงไม่ตก

01 ม.ค. 2561 | 08:09 น.
ปีที่ผ่านมา เป็นปีแห่งการเริ่มต้นประเทศไทย 4.0 ไทยจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless society) กระทรวงการคลัง ผลักดันระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) 4 ระยะ คือ 1.ระบบรับและโอนเงินพร้อมเพย์ (PrompPay) 2.การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 3.ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ 4.โครงการ e-Payment ภาครัฐ

[caption id="attachment_144847" align="aligncenter" width="503"] อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง[/caption]

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดหวังว่า ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ นอกจากจะเพิ่มความสะดวกแก่ภาครัฐ ประชาชน และธุรกิจทุกระดับแล้ว ยังจะช่วยประหยัดต้นทุนการใช้เงินสดได้มากถึงปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมผลพลอยได้อีกมหาศาลจากการลดการทุจริต

ระยะที่ 1 ของ National e-Payment คือ พร้อมเพย์ ที่ทำให้ต้นทุนการโอนเงินระหว่าง บุคคล-บุคคล บุคคล-ธุรกิจ และ ธุรกิจ-ธุรกิจ มีต้นทุนที่ถูกลง เช่นโอนเงินระหว่าง บุคคล-บุคคล ค่าธรรมเนียมจะลดลงจาก 25-35 บาท เหลือเพียง 0-2-5-10 บาท/ต่อรายการเท่านั้น ส่วนโอนเงินระหว่าง ธุรกิจ-ธุรกิจ ลดจาก 100 บาท/รายการ เหลือ 10-15 บาท/รายการ

ด้วยต้นทุนที่ลดลง ทำให้การโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ แจ้งเกิดได้สำเร็จในปีนี้ ล่าสุดยอดลงทะเบียนทั้งเบอร์โทรศัพท์และเลขบัตรประชาชนรวม 36 ล้านบัญชี ขณะที่ยอดธุรกรรมพุ่งทะลุ 2 แสนล้านบาท

TP05-3327-4 ส่วนระยะที่ 2 ขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นโครงการติดตั้งเครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์(EDC) 5.5 แสนเครื่อง ธนาคารพันธมิตร 2 ค่าย รับไปติดตั้ง ผ่านไปเกือบปี ยอดการติดตั้งยังไม่เข้าเป้า ธนาคารที่ติดตั้งเจอปัญหา ร้านค้าไม่ให้ความร่วมมือ เพราะเกรงกลัวเรื่องการตรวจสอบภาษีของสรรพากร แม้จะอัดโปรโมชันลดแหลก แจกสะบัดมาช่วย แต่ยอดก็ไม่กระเตื้อง

ปรากฏการณ์ดิจิตอล สังคมเกิดการตื่นตัว เมื่อธนาคารนำ QR Code มารองรับการชำระค่าสินค้าและบริการ ที่แสนจะสะดวกผ่านแอพพลิเคชันของแต่ละธนาคารผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกสิกรไทย คือ 2 ธนาคารที่ตื่นตัวมากที่สุด

ธนาคารไทยพาณิชย์ มีจำนวนลูกค้าที่ใช้ QR Code ผ่าน SCB Easy 5.4 ล้านราย และมีร้านค้ารองรับ 100,000 ร้านค้า ส่วนธนาคารกสิกรไทย มีลูกค้า K plus จำนวน 7.5 ล้านราย และมีร้านค้ารองรับ 200,000 ร้านค้า โดยทั้งไทยพาณิชย์และกสิกรไทย เป็น 2 ใน 5 ธนาคารที่ได้ออกจาก SandBox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้การรับรอง QR Code มาตรฐาน

ส่วนอีก 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารออมสิน ต่อมามีอีก 3 แห่ง ได้รับไลเซนส์เพิ่มคือ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาต

กลยุทธ์ความสำเร็จของ 2 ธนาคารเจ้าตลาด คือเรื่องของราคา ที่มีการทุ่มงบประมาณจำนวนมากอุดหนุนร้านค้าและบริการ จูงใจให้ผู้ใช้แอพ พลิเคชันใช้ QR Code ชำระสินค้าและบริการในราคาที่ถูกอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น แท็กซี่ มอเตอร์ ไซค์ บาทเดียวไปได้ทั่วกรุง ซื้อบัตรดูหนังในราคาบาทเดียว อาหารจานเดียวบาทเดียว จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ QR Code กระหึ่มเมือง

ในปี 2561 จะมีธนาคาร 8 แห่ง ที่ได้รับรอง QR Code มาตรฐาน จะเปิดศึกช่วงชิงลูกค้าต่อเนื่องจากปีก่อน กระแสดี แรงไม่มีตกแน่นอน เจ้าตลาด K Plus ตั้งเป้าเพิ่มผู้ใช้เป็น 10.8 ล้านราย ธนาคารไทยพาณิชย์ จะขยับจาก 5.4 ล้านราย เป็น 8.5 ล้านราย รวมทั้งการขยายฐานร้านค้ารับบัตรให้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ส่วนธนาคารอื่นๆ คาดว่า ปีนี้จะบุกตลาดมากขึ้น และจะงัดกลยุทธ์ด้านราคามาเป็นเครื่องทุ่นแรงกวาดต้อนลูกค้าเข้าพอร์ตให้มากที่สุด เหมือนที่เจ้าตลาดทำประสบความสำเร็จมาแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,327 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 - 3 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9