e-Payment ขับเคลื่อนไทยทุกภาคส่วน สู่‘Digital Economy!’

06 ม.ค. 2559 | 00:00 น.
การบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในรอบปี 2558 การดำเนินงานหลายนโยบายมุ่งวางโครงสร้างเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะยาวเช่นเดียวกับ “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติหรือ National e-Payment Master Plan หนึ่งในนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจภาคการเงินที่จะช่วยขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของประเทศก้าวสู่ความเป็น Digital Economy!

[caption id="attachment_24671" align="aligncenter" width="600"] ‘Digital Economy!’ ‘Digital Economy!’[/caption]

 รากฐาน “e-Payment” 5 ด้าน

“National e- Payment Master Plan” เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่จะช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยให้มีความเชื่อมโยงกับนโยบายอื่นๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม2558)เห็นชอบหลักการการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ National e-PaymentMaster Plan ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธานเพื่อผลักดันการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ “National e- PaymentMaster Plan” จะเร่งดำเนินการตามแผนให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมในปี 2560 โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 โครงการ(ดูตารางประกอบ) “คาดว่าแผนยุทธศาสตร์นี้จะช่วยประหยัดต้นทุนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยภาพรวมประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาทต่อปี คือ ภาคธนาคารประหยัดประมาณ 3 หมื่นล้านบาทและภาคธุรกิจหรือร้านค้าอีกประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยรวมจากประชาชนที่จะลดต้นทุนการบริหารจัดการ พกพาเงินสดหันมาใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์” นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว

ถนนการเงินสู่ e-Payment

สอดรับกับดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า ภายใต้แผนการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 (มาสเตอร์แพลน) จะเน้นการเข้าถึงรายย่อยมากขึ้น หลังจากธปท.ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางการโอนเงินขนาดใหญ่ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการตั้งคณะทำงาน โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องและหลายประเด็น ซึ่งเรื่องสำคัญจะเป็นการยกระดับการแข่งขัน และการลดต้นทุนที่ตํ่าลง

โดยระบบ Any-ID จะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องเบี้ยหัวแตกที่อยู่ในระบบการเงินที่แก้ปัญหาต่อเนื่องมาหลายสิบปี ซึ่งภายหลังเกิดระบบ E-Payment จะไม่ได้จบแค่เฉพาะการโอนผ่านบัญชีโทรศัพท์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) หรือร้านค้า แต่การมีส่วนร่วมจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปสู่รายย่อยที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น

ขณะที่ทิศทางธปท.ในระยะต่อไปนั้น การพัฒนาระบบการชำระเงินจะมุ่งเน้นพัฒนาถนนการเงินที่ครอบคลุมและเข้าถึงผู้ใช้บริการกลุ่มต่างๆ มากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคธุรกิจก้าวเข้าสู่การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจรโดยภายใต้การจัดทำแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน (Payment Systems Roadmap)ระยะที่ 4 บริการผ่านเทคโนโลยีทันสมัยที่สนับสนุนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Moving Forward) การพัฒนาบริการชำระเงินรายย่อยรองรับภาคธุรกิจ ภาครัฐ ประชาชน, ช่องทางชำระเงินที่หลากหลายรองรับ e-Commerce/m-Commerce, บริการผ่าน Mobile ที่สะดวกรวดเร็ว (QR Code, เบอร์มือถือ) ใช้เครื่องรับบัตรร่วมกัน และกระจายเครื่องรับบัตร, แนวทางลดการใช้เช็ค (การปรับโครงสร้างกลไกราคา/e-Cheque

ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน(Payment Systems Act) ตามที่ธปท.และกระทรวงการคลังเสนอเพื่อยกระดับการกำกับดูแลระบบการชำระเงินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการคุ้มครองการโอนเงินและการชำระดุลมิให้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอนกรณีเกิดการล้มละลายเพื่อป้องกันความเสี่ยงในระบบการเงิน การคุ้มครองเงินรับล่วงหน้าของผู้ใช้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อีกทั้งยังเป็นการลดความซํ้าซ้อนในการกำกับดูแลโดยรวมกฎหมายต่างๆ อยู่ในฉบับเดียว รวมถึงเอื้อต่อการส่งเสริม/กำกับดูแลนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะมีรูปแบบหลากหลายมากขึ้นกว่าปัจจุบันและส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศเพื่อพัฒนาไปสู่ระดับภูมิภาค

สำหรับภาคประชาชนนั้น ธปท.มุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบริการการชำระเงินผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะบริการการชำระเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น Smartphone และ tablet ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนเมืองในลักษณะ “Anywhere anytime any device” และจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทยในชนบท ส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้นได้ผลักดันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่รองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาคธุรกิจ (e-Business)อย่างครบวงจรจากต้นนํ้าถึงปลายนํ้าตั้งแต่การติดต่อซื้อขายสินค้า การชำระเงินรวมถึงการนำส่งข้อมูล เช่น ข้อมูลทางภาษีให้หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาธปท.ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พัฒนามาตรฐานกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการซื้อขายสินค้า (e-Invoicing) มาตรฐานกลางข้อความการชำระเงิน (Nation Payment Message Standard) เพื่อให้ข้อมูลการค้าและข้อมูลการชำระเงินเชื่อมโยงกันได้โดยอัตโนมัติแบบ Straight-Through Processing) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและลดต้นทุนในกระบวนการทางธุรกิจ

ขณะเดียวกันธปท.จะผลักดันการพัฒนาระบบการชำระเงินที่รองรับการชำระเงินทางออนไลน์ให้สะดวก ครอบคลุมมากขึ้นซึ่งจะช่วยสนับสนุนธุรกรรม e-Commerce ซึ่งจะเป็นช่องทางการทำการค้าที่สำคัญในอนาคตของธุรกิจและเอสเอ็มอีและภาครัฐที่ธปท.มุ่งส่งเสริมให้ภาครัฐรับ-จ่ายเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นโดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรมบัญชีกลางซึ่งได้ผลักดันมาตรการต่างๆ ที่ส่งเสริมการใช้ e-Payment ในภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมโดยปรับหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติให้ส่วนราชการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตและบัตรเครดิตได้สะดวกขึ้น

ปลายทาง “Cashless Society”

ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินงานทั้ง 5 โครงการแล้วนั้น ก็จะนำมาซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน, การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์, การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งบูรณาการระบบสวัสดิการสังคม, ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและส่งเสริมทุกภาคส่วนลดการใช้เงินสดและเช็ค (Cashless Society) โดยทำให้ธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สะดวกรวดเร็วและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศทั้งลดต้นทุนภาคธุรกิจยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างความมั่นคงระบบบริหารจัดการการเงินการคลัง

ประการสำคัญยังมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (ซึ่งประเมินโดย ธนาคารโลก)ทั้งจากการนำเทคโนโลยีไปใช้ในภาคธุรกิจมากขึ้นซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ หรือปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานด้านสถาบันของประเทศที่จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้งบประมาณลดปัญหาคอร์รัปชัน ลดภาระของภาคธุรกิจจากกฎระเบียบของภาครัฐ รวมถึงด้านอันดับความยาก/ง่ายในการประกอบธุรกิจในส่วนของการชำระภาษี (Ease of Doing Business) ด้านดัชนีการพัฒนามนุษย์โดยเฉพาะมิติด้านความเหลื่อมลํ้าในกลุ่มผู้ที่ขาดโอกาสและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองจากการที่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือและเงินสวัสดิการได้อย่างทั่วถึงและเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,119 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2559