" เกษตร"เปิดแผนกู้วิกฤติราคา ข้าว มัน ยาง ปาล์มเห็นผล 6 เดือน

24 ธ.ค. 2560 | 07:56 น.
น.สพ.สรวิศ ธานีโต โฆษกและผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการด้านนโยบายให้ข้าราชการระดับผู้บริหาร และเจ้าหน้าต่างๆ ขับเคลื่อนแผนปฎิบัติการ (ดูอินโฟกราฟิก) ที่ทุกระดับจะต้องขับเคลื่อน 1 ปีข้างหน้า

ลำดับแรกจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเกษตรกรเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างความเชื่อมั่น อาทิ ราคาสินค้าเกษตร ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน อาจจะทำทุกอย่างพร้อมกัน ให้เห็นผลใน 6 เดือน จะใช้แรง ใช้คนมาก ต้องจัดโครงสร้างวิธีการทำงานอย่างยั่งยืนตามที่ทีมงานเสนอมา รวมทั้งความรู้ จะต้องเข้มข้น

agri

"จริงแล้วถ้าเกษตรกรต้องการความรู้สามารถหาได้จากกรมกองต่างๆของรัฐ แต่เกษตรกรไม่ค่อยสอบถามหรือถามแล้วก็ปฏิบัติตามไม่ได้หลังจากประชุมหรืออบรมทุกอย่างยังเหมือนเดิม อาจเนื่องจากขาดเงินทุน เช่น ปุ๋ย เป็นต้น หากเกษตรกรสนใจจริงๆยังสามารถขอดูตัวอย่างการดำเนินงานของภาคเอกชนที่ประสพความสำเร็จซึ่งมีอยู่มากมาย หรือความรู้จากผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศเพื่อนำมาปฏิบัติ"

แต่ทีมเกษตรประชารัฐหรือจัดโครงสร้างวิธีการทำงานเข้าใจว่าทีมเกษตรประชารัฐนี้ จะมีทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของรัฐ(จากกรมกองต่างที่เกี่ยวข้อง) เข้าร่วมหรือคอยช่วยเหลือ ความเห็นตนคิดว่าจะไม่ยั่งยืน ไม่เป็นรูปธรรม ไม่ได้ผล ข้าราชการไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เจ้าหน้าที่รัฐยิ่งเข้มแข็งเท่าไรเกษตรกรยิ่งอ่อนแอมากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันการทำการเกษตรถือเป็นธุรกิจไม่ใช่งานอดิเรก เกษตรกรในปัจจุบันเป็นนายทุนรายย่อย ต้องจ้างคนอื่นทุกอย่าง ไม่ได้ทำเองเหมือนอดีต ต้นทุนการผลิตจึงสูง

 

ดังนั้นการทำการเกษตรให้ได้ผลจริงจัง ต้องมีปัจจัยหลัก 2 อย่าง ต้องมีความรู้ที่ถูกต้องเพื่อนำไปปฏิบัติ(เทคโนโลยี) เพื่อเพิ่มผลผลิต ต้องมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต หมายถึงดำเนินการตามหลักวิชาการอย่างถูกต้องเคร่งครัดโดยให้มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด ความรู้ที่ถูกต้องนั้นจำเป็นต้องมีมาก่อนผู้ที่เรียนมาและมีประสบการณ์มาจะเป็นผู้กำหนดแนวทางปฏิบัติ

"ด้านการจัดการ เป็นปัจจัยที่สำคัญมากลำพังเกษตรกรไม่น่าจะทำเองได้ จำเป็นต้องให้คนที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการหรือหัวหน้ากลุ่มที่มีประสบการณ์และเป็นผู้ที่ทุกคนยอมรับเข้ามาดำเนินการแทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมด โดยหัวหน้ากลุ่มและทีมงานจะได้รับผลตอบแทนตามที่ตกลงกัน หากไม่ประสพความสำเร็จก็เปลี่ยนผู้บริหารใหม่ได้ "

agri1

น.สพ.สรวิศกล่าวว่า หัวหน้ากลุ่มและทีมงานนี้จะเป็นผู้เสาะหาความรู้จากแหล่งต่างๆเอง เช่นจากหน่วยงานของทางราชการต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงพื้นที่ในความรับผิดชอบของตนเอง หากการรวมกลุ่มได้เนื้อที่ขนาดใหญ่พอเพียง พื้นที่เป็นที่ลุ่มอาจขุดเป็นแหล่งน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง พื้นที่เนินสูงหรือไม่เหมาะต่อการปลูกพืชอาจทำเป็นโกดังปุ๋ยหรือออฟฟิศหรือบ้านพักคนงาน เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่มีขนาดใหญ่อาจมีเครื่องจักรกลที่จำเป็นใช้ปฏิบัติงานในกลุ่มเอง มีแผนกเก็บเกี่ยว แผนกขนส่งหรือการตลาดของตนเองในอนาคต

"หากมีกลุ่มเช่นนี้เกิดขึ้นหลายๆกลุ่ม และหลายๆพืชในอนาคต ก็จะมีการแข่งขันในเรื่องการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตและมีการต่อยอดเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การรวมกลุ่มเกษตรกรอาจใช้เนื้อที่เป็นหุ้นส่วน เช่น เกษตรกร มี 5, 10 หรือ 50 ไร่ ก็มีหุ้น 5, 10 หรือ 50 หุ้น ตามลำดับ เป็นต้น เมื่อมีกำไรก็แบ่งกำไรกลับคืนเจ้าของที่ดินตามหุ้นที่เข้าร่วมตามสัดส่วน โดยสรุปจึงน่าเชื่อได้ว่าการดำเนินการโดยผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ย่อมได้ผลผลิตดีกว่า และต้นทุนการผลิตต่ำปล่อยให้เกษตรกรทำเองหรือต่างคนต่างทำ"

agri2

น.สพ.สรวิศกล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายสิบปีและ 3 ปี หลังสุด เงินช่วยเหลือเกษตรกรนับล้านล้านบาท เวลาช่วยต้องให้เงินอยู่กับระดับล่างนานหน่อย ซื้อขายในครัวเรือน ซื้อขายในไร่นา หรือตลาดเกษตรกรจริง (ที่ท่าน รมว.กษ. เคยทำในอดีต) ฝ่ายเศรษฐกิจต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว พอเงินลงไป ไม่ถึงวัน เงินก็ไปอยู่กับพ่อค้าคนกลางหมด ไปอยู่กับค่าโทรศัพท์และค่าใช้จ่ายอื่นๆหมด จากประสบการณ์อีกอย่างคือ ค่าลดต้นทุนที่ทางกระทรวงทำมา ลดได้ไม่มาก 500-1,000 บาทต่อไร่ (ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ารถเกี่ยว ค่าแรงงาน)

"แต่เวลาเกษตรกรขายผลผลิต จะถูกกดราคาเพราะพ่อค้าอ้างความชื้นสูง ผลผลิตไม่สมบรูณ์ ไม่ได้มาตรฐาน ถูกกดราคาต่อไร่ หรือต่อตัน 2,000-4,000 บาท แล้วเกษตรกรจะเหลืออะไรครับ พ่อค้าถึงรวยเอารวยเอา และมีบ้านหลังใหญ่ พาณิชย์ต้องช่วยตรงนี้ครับ กุญแจแห่งความสำเร็จ ขณะนี้หลักการรวมทั้งความชัดเจนเชิงนโยบายชัดเจนแล้วนะครับ พวกเราคงต้องมาช่วยกันเขียนรายละเอียดวิธีการทำงานเพื่อนำไปปฏิบัติให้ได้ผลตามหลักการที่แจ้งมา"

agri3

ทั้งนี้ ควรแบ่งกลุ่มเกษตรกรทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวปศุสัตว์และชาวประมง อาทิ 1. แบ่งตามความขยัน (เกษตรกรมีทั้งขยันมาก ขยัน ขยันน้อย) 2. แบ่งตามรายได้จากการทำเกษตร เป็นรายได้หลักหรือรายได้เสริม 3. ทำเกษตรเชิงเดี่ยว/ผสมผสาน เป็นต้น หลังจากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ อาจจะเห็นว่ามีเกษตรกรหลายระดับ พวกอยู่ได้ดีมาก อยู่ได้ดีและแย่ เนื่องจากเวลาช่วยเหลือมีเงินจำกัด (ช่วยเป็นแสนล้านแล้ว ทำไมยังจนอยู่) มีเวลาทำโครงการน้อย จะเน้นช่วยเหลือรวมคนอยู่ใกล้ได้รับการช่วยเหลือเสมอและบ่อย พวกนี้จะมีฐานะดีอยู่แล้ว เวลารัฐมนตรี/ผู้ตรวจลงพื้นที่เขาจะพาไปเยี่ยมพวกนี้

"เราควรเปลี่ยนมาเน้นช่วยพวกที่แย่ก่อนด้วยครับ เขาอาจขยันน้อย เราต้องกระตุ้นเขา เน้นกลุ่มนี้ พวกนี้จะไม่ค่อยได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเพราะไม่ใช่พวกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ใช่พวกเกษตรอำเภอ เกษตรตำบล อยู่ไกลปืนเที่ยงกลุ่มที่ดีอยู่แล้วไม่ทิ้ง ทำคู่ขนานกันไป กลุ่มที่แย่จะได้ฟื้นตัวได้ ดังนั้นขอให้ทุกคนช่วยให้ทีมงานไประดมสมองเขียนแผนปฎิบัติการว่าใครจะต้องทำอะไรที่ไหนทำอย่างไรและคาดว่าผลจะเป็นอย่างไรเพื่อให้ใช้เป็นคู่มือในการทำงานต่อไป

e-book-1-503x62