สนพ.เผยการใช้พลังงานของไทยปีหน้าโต 2.1%

22 ธ.ค. 2560 | 10:51 น.
สนพ.เผยการใช้พลังงานของไทยปีหน้าโต 2.1% หรือใช้อยู่ที่ประมาณ 2.81 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน

[caption id="attachment_244084" align="aligncenter" width="503"] นายทวารัฐ สูตะบุตร นายทวารัฐ สูตะบุตร[/caption]

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.โดยศูนย์พยากรณ์และสารสนเทศพลังงาน สรุปสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศไทยในปี 2560 โดยมีการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยการใช้อยู่ที่ 2.75 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ทั้งการใช้น้ำมัน การใช้ไฟฟ้านำเข้า การใช้พลังงานทดแทน ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากแหล่งก๊าซยาดานา เยตากุน และซอติก้าของเมียนมา หยุดจ่ายก๊าซในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ประกอบกับแหล่ง JDA –A18 ในอ่าวไทยหยุดซ่อมบำรุงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และตุลาคมส่งผลให้ก๊าซลดลงจากระบบ

โดยการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานนี้สอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ 3.9% ซึ่งเติบโตทั้งจากการส่งออก การบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนโดยรวม ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น และข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน

ทั้งนี้สถานการณ์การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายแต่ละประเภทของปี 2560 พบว่า การใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเพิ่มเกือบทุกประเภทยกเว้นการใช้น้ำมันเตา และ LPG ที่ลดลง โดยกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลเพิ่มขึ้น 3.8% (การใช้เฉลี่ย 30.2 ล้านลิตร/วัน) เป็นการเพิ่มขึ้นจากปัจจัยปริมาณรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอยู่ระดับไม่สูง และการลอยตัว LPG ในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ส่งผลให้ผู้ใช้รถ LPG บางส่วนเปลี่ยนกลับมาใช้น้ำมันแทนมากขึ้น ดีเซลการใช้เพิ่มขึ้น 2.6% (การใช้เฉลี่ย 63.7ล้านลิตร/วัน) น้ำมันเครื่องบินเพิ่ม 4.4% ตามการขยายตัวของการท่องเที่ยว ส่วน LPG (ไม่รวม Feedstock ในปิโตรเคมี) ลดลง 1.8% จากการใช้ในภาคขนส่งที่ลดลงต่อเนื่อง

การใช้ก๊าซธรรมชาติ ปี 2560 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 4,721 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ลดลง 0.1% จากปีก่อน ทั้งจากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนหลักประมาณ 58% ของการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมด คาดว่าลดลง 1.7% เช่นเดียวกับการใช้ NGV ลดลง 12.6% เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันปรับตัวลดลง และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่ยังมีไม่มากนัก ทำให้ผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันไปใช้น้ำมันแทน ขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 4.2%

การใช้ไฟฟ้าในปี 2560 อยู่ที่ 185,370 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 1.4% จากปีก่อน เป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ส่วนความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในระบบ 3 การไฟฟ้า หรือ System Peak (รวม Peak ของ VSPP) ปี 2560 อยู่ที่ 30,303 เมกะวัตต์ ลดลง 2.2% เมื่อเทียบกับปี 2559

สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์พลังงานในปี 2561 สนพ.คาดว่า การใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 2.1% หรือใช้อยู่ที่ประมาณ 2.81 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน โดยพิจารณาจากปัจจัย ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอยู่ที่ 34–35 บาท/เหรียญสหรัฐ และการคาดการณ์ GDP ของสภาพัฒน์จะขยายตัวที่ 3.6-4.6% ซึ่งเป็นการขยายตัวจากภาคเศรษฐกิจทั้งการส่งออก การลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ประชาชน โดยมีมาตรการดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

การใช้พลังงานขั้นต้นปี 2561 ที่เพิ่มขึ้นนี้จะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะมีการใช้ลดลง โดยการใช้พลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้นมากที่สุด 7.1% เมื่อเทียบกับปี 2560 เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ  การใช้น้ำมันเพิ่ม 2.2% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันที่คาดว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำ ลิกไนต์และถ่านหินนำเข้าเพิ่ม 1.2% โดยเฉพาะการใช้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม การใช้ไฟฟ้านำเข้าเพิ่ม 0.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากฐานการนำเข้าจาก สปป.ลาว ที่สูงในปี 2560 ส่วนก๊าซธรรมชาติลดลง 1.2% จากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และการใช้ในภาคขนส่ง (NGV) ที่ลดลง

การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในกลุ่มน้ำมันสำเร็จรูปปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นน้ำมันเตาและ LPG โดยการใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบปี 2560 (การใช้ 31.2 ล้านลิตร/วัน) ซึ่งเป็นผลมาจากราคาขายปลีกในประเทศที่คาดว่ายังอยู่ระดับต่ำ และผู้ใช้รถ LPG หันมาใช้น้ำมันแทนอย่างต่อเนื่อง ดีเซลเพิ่ม 2.7% (การใช้ 65.5 ล้านลิตร/วัน) น้ำมันเครื่องบินเพิ่ม 4.3% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ น้ำมันเตา ลดลง 6.7% (การใช้ 5.4 ล้านลิตร/วัน) และ LPG ที่ไม่รวม Feedstock ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีลดลง 1.2% (การใช้ 21.3 ล้านลิตร/วัน)

ภาพรวมการใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน ปี 2561 คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 5.0% โดยการใช้ในภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น 5.7% ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 2.5% เป็นไปตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการใช้ในรถยนต์คาดว่าจะลดลง 10.9% ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จากการที่ผู้ใช้บางส่วนเปลี่ยนไปใช้น้ำมันซึ่งมีราคาถูกแทน ส่วนการใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเพิ่มขึ้น 17.8% ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีขึ้น

การใช้ไฟฟ้า ปี 2561 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 192,923 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 4.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่จะปรับตัวดีขึ้นทั้งในส่วนของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6