ประชุม “GASeP”ยกระดับความปลอดภัยด้านการบินทั่วโลก

20 ธ.ค. 2560 | 08:43 น.
ประเทศไทยจัดการประชุม “GASeP” ยกระดับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินทั่วโลก

20 ธันวาคม 2560- พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดับภูมิภาคด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนระดับโลก “Global Aviation Security Plan (GASeP)” โดยมี ดร.ฟ่าง หลิว เลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ นายอรุณ มิชรา ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหารจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องของไทย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน (Civil Aviation Security) จากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมประมาณ 150 คน เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน

589210412

การสัมมนา GASeP นี้ จัดขึ้นเนื่องจากเมื่อเดือนกันยายน 2559 มีการประชุม the International Civil Aviation Organization (ICAO) Assembly ครั้งที่ 39 ณ สำนักงานใหญ่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เมืองมอลทริออล ประเทศแคนาดา ผู้เข้าประชุมในครั้งนั้นเห็นควรให้มีการเร่งรัดพัฒนาแผนงานด้านการรักษาความปลอดภัยระดับโลก Global Aviation Security Plan (GASeP) เพื่อให้เป็นโครงร่างนโยบายและแผนด้านการรักษาความปลอดภัยภาคอุตสาหกรรมการบินฉบับใหม่ แทนที่แผนกลยุทธ์เดิมคือ ICAO Comprehensive Aviation Security Strategy (ICASS) หลังจาก GASeP ได้รับความเห็นชอบแล้ว ICAO ได้มีการสัมมนาเผยแพร่แผนงานเป็นรายภูมิภาค โดยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เผยว่า GASeP เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด ICAO’s No Country Left Behind โดยแผนงานฉบับใหม่ที่ได้นำเสนอในการประชุมครั้งนี้จะเป็นรากฐานให้ภาครัฐ ผู้มีส่วนร่วมในภาคอุตสาหกรรมการบิน และ ICAO ทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินทั่วโลก รวมถึงยังจะได้มีการนำเสนอ Roadmap ที่ระบุหน้าที่และสิ่งที่ต้องปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ เพื่อที่แผนงานฉบับใหม่และ Roadmap จะได้นำพาไปสู่ผลลัพธ์สำคัญ 5 ประการแรก คือ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

(1) ยกระดับความตระหนักรู้และการตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัย
(2) ส่งเสริมวัฒนธรรมด้านการรักษาความปลอดภัยและการตระหนักรู้ของมนุษย์
(3) ปรับปรุงทรัพยากรทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ดีขึ้น
(4) ปรับปรุงการกำกับดูแลและการประกันคุณภาพ และ
(5) เพิ่มการประสานงานและความสนับสนุน

GASeP จะต้องได้รับการทบทวน แก้ไข ตามลักษณะภัยคุกคามทางด้านการรักษาความปลอดภัย การบินที่เกิดขึ้นใหม่ให้เหมาะสมที่สุด และจะต้องอาศัยการนำไปปฏิบัติในทุกระดับ ตั้งแต่ภายในประเทศ ภูมิภาคและโลก รวมถึงการให้ความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนร่วมต่าง ๆ ในด้านการบินต่อไป เบื้องต้นคาดว่า การดำเนินการให้เห็นผลลัพธ์สำคัญ 5 ประการแรก จะเกิดขึ้นก่อนการประชุม ICAO Assembly ครั้งที่ 40 ในปี 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9