‘อี-เพย์เมนต์’เปิดศึกราคา

16 ธ.ค. 2560 | 07:18 น.
ธุรกิจ “อี-เพย์เมนต์” แข่งดุ ตัดราคาค่าบริการจน “เพย์สบาย” ต้องปิดตำนาน 12 ปี ทำร้านค้ารายย่อยนับหมื่นอ่วม ด้านดีแทคแจงขายกิจการให้ “โอมิเซะ” ตั้งแต่เดือนมิ.ย.เหตุไม่ใช่ธุรกิจหลัก

สถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจบริการเชื่อมต่อการชำระเงินออนไลน์ หรือเพย์เมนต์เกตเวย์ ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแข่งขันทางด้านอัตราค่าบริการ จนทำให้ผู้ให้บริการหลายรายขาดทุน บางรายปรับรูปแบบธุรกิจ ล่าสุดบริการ เพย์สบาย อี-เพย์เมนท์เกตเวย์ราย แรกๆ ของเมืองไทยที่อยู่ในตลาดมา 12 ปี ได้ยุติการให้บริการลงไป เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

วิทยุพลังงาน โดยแหล่งข่าวจากวงการอีเพย์-เมนต์เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปิดให้บริการ “เพย์สบาย” www.paysbuy.com ทำให้หลายๆ ร้านค้าและธุรกิจที่เชื่อมต่อเพื่อให้บริการชำระเงินออนไลน์ในการซื้อสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ แอพพลิ เคชัน หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ ได้รับผลกระทบจำนวนมาก เนื่องจากเพย์สบาย มีการให้บริการกับ ร้านค้ารายย่อยประมาณ 10,000 ราย เป็นร้านค้าที่มีการใช้งานประจำ (Active) หลายพันราย

“เป็นที่น่าเสียดายระบบเพย์เมนต์เกตเวย์ ที่เชื่อมต่อผู้ให้บริการการเงินครบทุกช่องทาง แบบมัลติแชนเนล โดยเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่มีการเชื่อมต่อการชำระเงินผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น บิ๊กซี และโลตัส รองรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต บริการอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง อาลีเพย์ วีแชทเพย์ และเพย์พาล”

โดยมองว่าธุรกิจเพย์เมนต์เกตเวย์ ยังมีช่องทางการเติบโต ส่วนเหตุผลที่ดีแทค ขายธุรกิจดังกล่าวให้กับโอมิเซะไม่ใช่เรื่องของการแข่งขันในธุรกิจ หรือ ธุรกิจไปต่อไม่ได้ แต่มองว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างธุรกิจ โดยบริการเพย์เมนต์เกตเวย์ อาจไม่ใช่ธุรกิจหลักที่ดีแทคมีความเชี่ยวชาญ

02 (1) ด้านนางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ยอมรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดีแทคได้บรรลุข้อตกลงขายกิจการระบบรับชำระเงินในเครือ บริษัท เพย์สบาย จำกัด ให้กับโอมิเซะตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 ภายใต้เงื่อนไขโอมิเซะจะยังคงเป็นพันธมิตรที่ดีของดีแทคในฐานะผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินออนไลน์ ซึ่งเมื่อกระบวนการโอนถ่ายกิจการแล้วเสร็จเพย์สบายจึงได้ยุติการให้บริการไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน

“การแข่งขันในธุรกิจนี้มีความรุนแรงมากขึ้น แข่งกันลดค่าบริการจนไม่เหลือกำไร มีโอปอเรเตอร์บางรายเริ่มปรับรูปแบบธุรกิจจากการให้บริการอี-เพย์เมนต์แล้ว ดีแทคได้ตัดสินใจขายเพย์สบาย เอาเงินสดเข้ามาเพราะธุรกิจเพย์เมนต์เกตเวย์ ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,322 วันที่ 14 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9