ดีป้าเดินมาตรการภาษี 200% หนุนเอสเอ็มอีใช้เทคโนโลยี-ซอฟต์แวร์ไทยขึ้นทะเบียน

16 ธ.ค. 2560 | 07:30 น.
ดีป้า ประกาศมาตรการภาษีใหม่ 200% “หักรายจ่ายภาษี 2 เท่า เราทำได้” ยกระดับเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับกลุ่มผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย-เอสเอ็มอี ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ด้านยุทธศาสตร์และบริหาร) เปิดเผยว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์หรือเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ เพื่อให้เข้ากับยุคไทยแลนด์ 4.0 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้ออกมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ตั้งแต่ขนาดเล็ก-กลาง ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มจากเดิมได้อีก 100% จากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้ 100% เมื่อซื้อหรือใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์จาก นักพัฒนา หรือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่ขึ้นทะเบียนอยู่กับทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า

มาตรการภาษีใหม่ 200% “หักรายจ่ายภาษี 2 เท่า เราทำได้” ถือว่า “win-win” กันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะนอกจากผู้ประกอบการโปรแกรมคอม พิวเตอร์จะได้เพิ่มโอกาสทางการตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้ขยายฐานลูกค้าใหม่ได้แล้ว ทางฝ่ายกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตั้งแต่ขนาดเล็ก-กลาง ในฐานะผู้ซื้อซอฟต์แวร์ยังสามารถนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้เป็น 2 เท่า ตามหลักเกณฑ์เงื่อน ไขที่กรมสรรพากรกำหนดในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทได้อีกด้วย

P5-3322-1A อย่างไรก็ตามการนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีนั้น มีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเลือกใช้บริการกับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่จดทะเบียนอยู่กับสำนักงานดีป้า หรือมีรายชื่ออยู่เท่านั้น โดยปัจจุบันทางดีป้า ได้เปิดให้ผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ทั่วไป ที่สนใจเข้าสู่มาตรการภาษีใหม่ สามารถลงทะเบียนผ่านระบบฐานข้อมูลหรือเครือข่ายกับทางดีป้าได้โดยตรง โดยมีคุณสมบัติดังนี้

วิทยุพลังงาน 1.จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่ 51% ของนิติบุคคลนั้น ถือโดยบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย หากเป็นนิติบุคคลในรูปแบบอื่น ต้องรับความเห็นชอบจากคณะทำงานเป็นกรณีไป, 2. ทำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ใช่ตัวแทนเพื่อขายหรือให้บริการ, 3. จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และ 4. ได้รับการรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิตหรือพัฒนาหรือบริการซอฟต์แวร์ เช่น ISO/IEC 29110 หรือ Capability Maturity Model Integration (CMMI) หรือมาตรฐานอื่นๆ ตามที่สำนักงานกำหนด อย่างหนึ่งอย่างใดจากหน่วยรับรอง (Certified Body)

ด้านนายสมพร มณีรัตนะกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมารัฐมีมาตรการ ให้ผู้ประกอบการที่มีการจัดซื้อซอฟต์แวร์มาหักภาษีเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าอยู่แล้ว เข้าใจว่าครั้งนี้เป็นการต่ออายุมาตรการเดิมออกไป และมีขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ รวมถึงกำหนดให้เอสเอ็มอี ที่ได้รับสิทธิหักภาษี จะต้องจัดซื้อซอฟต์แวร์กับผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับดีป้าเท่านั้น ทั้งนี้มองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ดี แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาขาดการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับรู้ในวงกว้าง ทำให้มีส่วนช่วยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยน้อย โดยการที่ดีป้าเข้ามาดูแลโครงการดังกล่าวจะต้องมีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น อีกทั้งมองว่ากรมสรรพากร ควรเพิ่มวงเงินการหักภาษีจากเดิมกำหนดวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เพราะซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจมีตั้งแต่หลักหมื่นบาทถึงหลักล้านบาท การกำหนดกรอบวงเงินหักภาษีไว้ไม่เกิน 100,000 บาท อาจไม่จูงใจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเท่าที่ควร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,322 วันที่ 14 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9