งานหิน‘อีวี’แจ้งเกิด หวั่นดีลเลอร์ ซัพพลายเออร์เจ๊ง ไม่ถูกจริตคนไทย

16 ธ.ค. 2560 | 04:41 น.
“อีวี”เจองานยากหลังข้อมูลวิจัยชี้ คนไทยยังเลือกซื้อรถเพราะเน้นราคาขายต่อ แถมยอมจ่ายเพิ่มไม่เกิน 2 แสนบาท หากซื้อรถพลังไฟฟ้าแทนรถเครื่องยนต์ ด้านกูรูยานยนต์ระบุ หากสนับสนุนการผลิตอีวีเร็วเกินไป ซัพพลายเออร์ปรับตัวไม่ทัน ดีลเลอร์รายได้หดหาย

จากเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ยานยนต์พลังไฟฟ้าเป็นโปร ดักต์แชมเปี้ยนตัวที่ 3 ต่อจากปิกอัพและอีโคคาร์ พร้อมปูพรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือสถานีชาร์จไฟทั่วประเทศ และตั้งเป้าหมายภายในปี 2579 ต้องมีรถพลังไฟฟ้า(อีวีและปลั๊ก-อินไฮบริด) วิ่งบนท้องถนนเมืองไทยถึง 1.2 ล้านคัน

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 แม้จะเป็นการเตรียมงานวางแผนในระยะยาว เพื่อไม่ให้ประเทศ ไทยตกขบวนเทคโนโลยี และสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างยั่งยืน แต่ยังมีเสียงจากหลายภาคส่วนกังวลถึงการมาของ “อีวี” ว่ามีโอกาสกระทบผู้ประกอบการ และผู้บริโภคในหลายๆมิติ

โดยกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน(ซัพพลายเออร์) อาจเจอผลกระทบเป็นลำดับแรกๆ หากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเดินหน้าเข้าสู่รถพลังไฟฟ้า ที่ใช้ชิ้นส่วนการผลิตน้อยกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน เพราะการขับเคลื่อนมีเพียงมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เป็นหลัก ต่างจากรถแบบเดิมที่ต้องมีชุดขับเคลื่อนซับซ้อนมากมาย

รายงานของสมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ระบุว่า การที่ไทยเลือกเป็นฐานการผลิตรถพลังไฟฟ้า จะมีผลกระทบกับชิ้นส่วน 49 รายการ กระทบซัพพลายเออร์รวม 816 บริษัท และแรงงานกว่า 3 แสนคน

นายธิบดี หาญประเสริฐ นายกสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลควรก้าวให้ถูกจังหวะสำหรับการสนับสนุนรถพลังงานไฟฟ้า ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพใหญ่ รวมถึงการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเอง และความมั่นคงด้านพลังงาน

โดยอุตสาหกรรมของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดิมและแรงงานในส่วนนี้จะได้รับผลกระทบ หากเปลี่ยนแปลงจากรถเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่รถพลังไฟฟ้าเร็วเกินไป เช่นเดียวกับรายได้รัฐบาลจะหายไปจากการจัดเก็บภาษีนำเข้านํ้ามัน และภาษีจากราคาขายปลีก ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม สรรพสามิต และภาษีเทศบาล รวมถึงกองทุนนํ้ามัน

mp32-3322-a นอกจากนี้ มีรายงานในสหรัฐอเมริกาว่า หากอีวีมาทดแทนรถยนต์แบบเดิม ธุรกิจดีลเลอร์ที่เป็นคู่ค้ากับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะอยู่ไม่ได้แน่นอน เพราะในปัจจุบันรายได้ 75% มาจากการบริการหลังการขาย(ซ่อมบำรุง ดูแลรักษา) ซึ่งอีวี แทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และยังไม่นับการมาของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตได้

ดร.พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางของรถพลังไฟฟ้า “อีวี” กับประเทศไทยอาจจะก้าวไปไม่เร็ว ส่วนหนึ่งเพราะคนยังกังวลเรื่อง ราคา ระยะทางที่วิ่งได้ และความสะดวกในการชาร์จไฟ ขณะเดียวกันพฤติกรรมการซื้อรถของคนไทย ยังคิดถึงบริการหลังการขายเป็นหลัก เช่น ราคาอะไหล่จะแพงไหม รวมถึงราคาขายต่อ ที่สำคัญผลวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ลูกค้ายอมจ่ายส่วนต่างเพิ่มขึ้น 5 หมื่น -2 แสนบาท ถ้าต้องซื้อรถที่มาพร้อมเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

“ถ้าคนจะซื้อรถพลังไฟฟ้าจะยอมรับราคาที่เพิ่มขึ้นว่ารถยนต์ในรูปแบบเดิม ไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งในความเป็นจริงราคาของอีวียังสูงอยู่มาก” ดร.พิมลวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2017 นิสสันนำ “ลีฟ ใหม่” มาอวดโฉม แต่ยังไม่ประกาศราคาขายและไม่ระบุเวลาในการทำตลาดที่แน่นอน

“ถามว่าไทยพร้อมหรือยังสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ในแง่ลูกค้าต้องตอบว่ายัง แต่ถ้าถามถึงประโยชน์นิสสันต้องบอกว่าพร้อม แต่รถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่ทุกคำตอบในการใช้งาน โดยรถแบบนี้จะเหมาะกับการใช้งานในเมืองใหญ่ และอาจจะไม่เหมาะสมกับการเดินทางระยะไกลๆในต่างจังหวัด เนื่องจากต้องคำนึงถึงระยะทางวิ่งและการชาร์จไฟ” นายอันตวน บาร์เตส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า

“แม้เรายังไม่สามารถเปิดเผยราคารถในงานนี้ได้ แต่เราได้นำรถยนต์ไฟฟ้าและอี-พาวเวอร์มานำเสนอให้ทุกคนได้เห็นเทคโนโลยีว่ามันมีหลายสเต็ป และพยายามอย่างเต็มที่ในการเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในประเทศไทย อย่างไรก็ดีการพิจารณาต่างๆยังต้องใช้เวลาอีกสักนิด”

[caption id="attachment_1562" align="aligncenter" width="503"] ธันยนันท์ ลีนุตพงษ์ ธันยนันท์ ลีนุตพงษ์[/caption]

นางสาวธันยนันท์ ลีนุตพงษ์ กรรมการบริหาร บริษัท ยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ฯ ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์เกียในประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทเปิดตัว “โซล อีวี” เป็นครั้งแรกในอาเซียน พร้อมราคา 2.297 ล้านบาท

สำหรับโซล อีวี เป็นรถพลังไฟฟ้า 100% สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 145 กม./ชม.อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 11.2 วินาที ชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้งวิ่งได้ระยะทางสูงสุด 250 กม. พร้อมการรับประกัน 5 ปีหรือ 1.5 แสนกิโลเมตร โดยตั้งเป้าขาย 5 คันในปีหน้า

“เดิมเราต้องการขาย โซล อีวี ในราคาที่ตํ่ากว่า 2 ล้านบาท แต่เนื่องจากมีหลายปัจจัยทำให้ราคาต้องอยู่ที่ 2.297 ล้านบาท ซึ่งเร็วๆ นี้อาจมีความคืบหน้าเกี่ยวกับบริษัทแม่ที่จะเข้ามาตั้งโรงงานหรือใช้ฐานประกอบจากประเทศในอาเซียน ซึ่งมีผลด้านราคาขายที่จะทำให้โซล อีวี แข่งขันได้ในอนาคต” นางสาวธันยนันท์กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,322 วันที่ 14 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว