สบน.ชี้แจงข้อกำหนดเงินกู้ ADB

07 ธ.ค. 2560 | 03:43 น.
นางสาวศิรสา กันต์พิทยา รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ชี้แจงประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเงินกู้ ADB ที่มีข้อกำหนดหลายประการ นอกเหนือจากการคิดอัตราดอกเบี้ย ดังนี้

1. หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2560 มีจำนวน 6,305,654.60  ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ จำนวน 6,006,341.35 ล้านบาท หรือร้อยละ 95.25 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง  และหนี้ต่างประเทศ จำนวน 299,313.25 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.75 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ซึ่งเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 7,888.91 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.64 ของยอดหนี้ต่างประเทศคงค้าง

2. ประเทศไทยได้ร่วมมือกับ ADB จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการดำเนินงานของประเทศ (Country Operations Business Plan: COBP) ระยะ 3 ปี ซึ่งประกอบด้วยโครงการที่เป็นเงินกู้และความช่วยเหลือทางวิชาการ (Technical Assistance) โดยแผน COBP เป็นกรอบการดำเนินงานที่มีความยืดหยุ่น ไม่ได้มีข้อผูกมัดว่าจะต้องกู้เงินจาก ADB และไม่มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด ทั้งนี้ โครงการที่อยู่ในแผน COBP เป็นโครงการที่อยู่ในสาขาต่างๆ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย และนโยบายรัฐบาล สำหรับโครงการเงินกู้ในแผน COBP ในปี 2561 – 2563 เป็นโครงการในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาการขนส่งมวลชน ไม่มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) สำหรับความช่วยเหลือทางวิชาการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือเพื่อศึกษาทางเทคนิคและวิชาการแบบให้เปล่าในปี 2561 – 2563 เป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การปรับปรุงท่าอากาศยาน การศึกษาเรื่องการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิงขึ้นเพื่อรองรับการปฏิรูปสู่เกษตร 4.0 และการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของระบบรถไฟ

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 3. สำหรับการกู้เงินจากต่างประเทศ โครงการจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการและกู้เงินจากต่างประเทศ โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาต้นทุนและเงื่อนไขการกู้เงินเปรียบเทียบกับแหล่งเงินกู้ในประเทศและแหล่งเงินกู้ต่างประเทศอื่นๆ เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด และหากเป็นเงินกู้จากต่างประเทศ จะพิจารณาเงื่อนไขการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความช่วยเหลือทางวิชาการ และระบบการบริหารจัดการและติดตามประเมินผลโครงการควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะต้องนำส่งร่างสัญญาเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ก่อนที่จะลงนามในสัญญาเงินกู้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังไม่มีการลงนามในสัญญาเงินกู้ที่มีเงื่อนไขอันส่งผลให้ประเทศไทยเกิดความเสียเปรียบ และในปี 2560 ยังไม่มีการลงนามในสัญญาเงินกู้กับ ADB เพื่อดำเนินโครงการใด    อีกทั้ง ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper-Middle Income Country) และไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ จึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศภายใต้ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขพิเศษดังที่กล่าว โปรโมทแทรกอีบุ๊ก