SCB กินรวบวินด์ฟาร์ม ปล่อยกู้ WEH 3.7หมื่นล้าน พอร์ตใหญ่สุดในระบบ

08 ธ.ค. 2560 | 11:59 น.
เปิดดีลประวัติศาสตร์แบงก์ไทยพาณิชย์ปล่อยกู้ก้อนโต 3.7 หมื่นล้านบาทให้ “เคพีเอ็น” ลงทุนไฟฟ้าพลังงานลม 5 แห่ง 450 เมกะวัตต์ในนามวินด์เอนเนอร์ยี่โฮลดิ้ง ขึ้นแท่นผู้นำพอร์ตสินเชื่อวินด์ฟาร์มรายใหญ่สุดในไทย

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจพลังงานทดแทนรายใหญ่ที่สุดของไทยอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะพลังงานลมที่ธนาคารประเมินว่ายังมีทิศทางการเติบโตต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

MP24-3320-A ล่าสุด SCB ปล่อยเงินกู้จำนวน 3.7 หมื่นล้านบาทให้กับบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด(WEH) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ KPN Group เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมจำนวน 5 โครงการ จำนวนรวม 450 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนคร ราชสีมาและชัยภูมิ คาดว่าจะแล้วเสร็จระหว่างไตรมาส 2 ปี 2561 และไตรมาส 1 ปี 2562 ทำให้กำลังการผลิตรวมของ WEH เพิ่มเป็น 720 เมกะวัตต์ มากที่สุดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ธนาคารไทยพาณิชย์มีความมุ่งมั่นและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการลงทุนสำหรับธุรกิจพลังงานสะอาด เพื่อช่วยขับเคลื่อนการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนของสังคมโลกในอนาคต”นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Multi-Corporate Segment และ Corporate Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าว

[caption id="attachment_239348" align="aligncenter" width="335"] วศิน ไสยวรรณ วศิน ไสยวรรณ[/caption]

ก่อนหน้านี้ SCB ให้เงินกู้แก่บริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หลายโครงการ เช่น โครงการ เฟิร์ส โคราช วินด์, โครงการ เค.อาร์.ทู. และโครงการวะตะแบก

นายณพ ณรงค์เดช รองประธานคณะกรรมการ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน โครงการทั้ง 5 แห่งได้เริ่มการก่อสร้างแล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จระหว่างไตรมาส 2 ปี 2561 และไตรมาส 1 ปี 2562 ภายหลังโครงการแล้วเสร็จ กำลังการผลิตของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 720 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัท ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความทุ่มเทของคณะทำงานของบริษัท และ SCB รวมทั้งความร่วมมือของ Vestas และ GE ทำให้เราสามารถนำเทคโนโลยีรุ่นล่าสุดมาใช้เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีศักยภาพเทียบเท่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทวีปยุโรปที่มีกำลังลมที่แรงกว่า”

ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 5 โครงการดังกล่าว จะใช้กังหันลมทั้งของ Vestas และ General Electric (GE) โดย Vestas จะติดตั้งกังหันรุ่น V136-3.0 MW จำนวน 60 ตัว กังหันรุ่นนี้มีความสูงถึง 157 เมตร ซึ่งถือเป็นกังหันที่สูงที่สุดและเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการใช้กังหันรุ่นดังกล่าว ส่วน GE จะติดตั้งกังหันรุ่น GE3.43-137 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบไฮบริด ระหว่าง Steel และ Concrete จำนวน 90 ตัว นอกจากนี้ GE ยังก่อสร้างสถานีไฟฟ้าใหม่จำนวน 6 สถานีสำหรับโครงการอีกด้วย

ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายน 2557 SCB เคยให้การสนับสนุนทางการเงินแบบ Portfolio Financing ที่เป็นทั้งปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดการเงินกู้ส่วนโครงการและส่วนทุน ให้แก่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ของนายสมโภชน์ อาหุนัย เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการและพลังงานลม 3 โครงการ รวม 306 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท

EA ยังแต่งตั้งให้ SCB เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการเงินกู้ ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 3 โครงการ กำลังผลิตรวม 270 เมกะวัตต์ ในเวลาต่อมาด้วย

นอกจากนี้ SCB ยังปล่อยกู้วินด์ฟาร์มให้บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) 3 ล็อต ยอดเงินรวมกว่า 1.12 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเดือนเมษายน 2558 SCB ปล่อยกู้ GUNKUL พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรก จำนวน 3,675 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 60 เมกะวัตต์ ที่ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

เมื่อกลางปี 2559 ปล่อยกู้ให้ GUNKUL อีก 4,455 ล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมโครงการสราญลม ขนาด 67.5 เมกะวัตต์ ที่ต.ห้วยบง อ. ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2560
ถึงต้นปี 2560 SCB ปล่อยกู้ 3,113 ล้านบาท ให้ บริษัท โคราชวินด์เอ็นเนอร์ยีฯ และ GUNKUL ลุยโครงการมิตรภาพวินด์ฟาร์ม โรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ก่อนจะชะลอให้การสนับสนุนการเงินราย อื่นๆ เนื่องจากปัญหาการใช้ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

อ๊ายยยขายของ-7-1 อย่างไรก็ตามหากย้อนไปดูประวัติการปล่อยกู้วงเงินใหญ่รายเดียวของ SCB เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อไม่นานมานี้คือ เมื่อราวเดือนกันยายน 2559 ปล่อยกู้ส่วนบุคคลให้นายพิชญ์ โพธารามิก วงเงินสูงถึง 4.25 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JAS) ในราคาหุ้นละ 7.25 บาท และ JAS-W3 หน่วยละ 3.68 บาท

SCB ประเมินว่าดีลนี้มีความเสี่ยงตํ่าเพราะจุดมุ่งหมายของนายพิชญ์ต้องการเป็นเจ้าของ JAS เต็มตัว ผ่านการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ธนาคารจึงปล่อยกู้ให้โดยไม่ได้พิจารณาที่ความมั่นคงของตัวบุคคล แต่มองที่ธุรกิจ JAS มีเสถียรภาพหรือไม่

ปัจจุบันนายพิชญ์ โพธารามิก ถือหุ้น JAS จำนวน 4,295,246,452 หุ้น หรือ 64.39% ราคาหุ้น JAS ณวันที่ 4 ธันวาคม2560 คือ7.05 บาท มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,320 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว