ประกันสังคมชวนผู้ประกันตนทำฟันภายใน31ธ.ค.ก่อนเสียสิทธิปี60

04 ธ.ค. 2560 | 12:05 น.
ประกันสังคม ชวนผู้ประกันตนทำฟัน 900 บาท /คน/ปี ภายใน 31 ธ.ค. นี้ ก่อนเสียสิทธิปี 60

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชวนผู้ประกันตนใช้สิทธิทำฟัน กรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด ปีละ 900 บาท/คน/ปี ภายใน 31 ธ.ค. นี้ ก่อนเสียสิทธิปี 60 เลขาธิการ สปส. ย้ำ ผู้ประกันตนใช้สิทธิทำฟันได้ปีต่อปี หากไม่ใช้สิทธิในปีนี้เท่ากับเสียโอกาสในการดูแลสุขภาพในช่องปาก

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.)กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมเล็งเห็นปัญหาสุขภาพในช่องปาก เป็นปัจจัยสำคัญในการลดทอนประสิทธิภาพการทำงาน ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพทางกาย และบุคลิกภาพของผู้ประกันตน โดยได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณี อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ให้แก่ผู้ประกันตน เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี (จากเดิม 600 บาทต่อคนต่อปี)

suradej

สปส.ขอย้ำเตือนผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิกรณีทันตกรรม กรณีอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ประจำปี 2560 สามารถขอรับบริการในคลินิกหรือสถานพยาบาลเอกชน หรือสถานพยาบาลของรัฐ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เนื่องจากสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมเป็นสิทธิปีต่อปี หากไม่ใช้สิทธิในปีนี้เท่ากับเสียโอกาสในการดูแลสุขภาพในช่องปาก อีกทั้งเพื่อสุขภาพในช่องปากที่ดีควรพบทันตแพทย์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอปีละอย่างน้อย 1-2 ครั้ง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าว

ปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานเข้ารับบริการ กรณีทันตกรรมกับสถานพยาบาลโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน วงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี แยกเป็นสถานพยาบาลเอกชน/คลินิก จำนวน 1,143 แห่ง สถานพยาบาลรัฐทั่วประเทศ โดยสังเกตป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย

ส่วนกรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการ กรณีทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันตนสามารถนำหลักฐานประกอบด้วย ใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ พร้อมสำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน มายื่นต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ทั่วประเทศ มายื่นขอรับประโยชน์ทดแทน ตามกฎหมายประกันสังคมได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์

e-book