ครม.หั่นโบนัส! บอร์ด9รัฐวิสาหกิจ

04 ธ.ค. 2560 | 10:52 น.
ครม.เห็นชอบคุมเข้มเงื่อนไขจ่ายโบนัสบอร์ด พนักงาน และลูกจ้างบริษัทในเครือที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจ

- 4 ธ.ค. 60 - ที่ประชุมครม. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้เปิดเผยว่า ผลการประชุมครม. ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสกรรมการ พนักงาน และลูกจ้างบริษัทในเครือที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยบังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจ 9 บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และบริษัทแม่ก็ไม่อยู่ในตลท. ทำให้กรรมการบริษัททั้ง 9 แห่ง ได้โบนัสสูงสุดไม่เกิน 1.3 แสนบาท และถ้าขาดประชุมก็ต้องถูกลดโบนัสลงสูงสุดถึง 75% ขณะที่บรรดาพนักงานจะได้เงินโบนัสสูงสุดไม่เกิน 9% ของกำไรหรือสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน

กรณีที่บริษัทมีกำไรสุทธิไม่เกิน 100 ล้านบาท จะได้โบนัส 3% ของกำไรสุทธิ แต่ไม่เกินคนละ 60,000 บาท โดยไล่เป็นขั้นบันไดไปเรื่อยๆ เช่นกำไร 101-300 ล้านบาท ได้โบนัส 3% และไม่เกิน 65,000บาท ไปจนถึงกำไรสุทธิ 11,001-13,000 ล้านบาท ได้รับโบนัสไม่เกิน 1.3 แสนบาท

หากกำไรมากกว่า 13,000 ล้านบาท ให้โบนัสเพิ่มอีก 10,000บาท จากกำไรที่เพิ่มขึ้นทุก 2,000 ล้านบาท โดยประธานบริษัทได้รับโบนัสเพิ่ม 1 ใน 4 และรองประธานได้เพิ่ม 1 ใน 8 ของโบนัสที่กรรมการบริษัทได้รับ

และหากกรรมการขาดประชุมเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน ให้จ่ายโบนัสลดลง 25%, ขาดประชุมเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 9 เดือน จ่ายโบนัสลดลง 50% และขาดประชุมเกิน 9 เดือน ให้จ่ายโบนัสลดลง 75%

จากข้อกำหนดพบมีบริษัทที่เข้าเกณฑ์การจ่ายโบนัสในหลักการดังกล่าว 9 บริษัทรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย

1.บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ PEA ENCOM บริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

2.บริษัท เอซีที โมบาย จำกัด บริษัทในเครือของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

3.บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด หรือ DCAP บริษัทร่วมทุนระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

4.บริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด บริษัทในเครือ ของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

5.บริษัท ไทยแลนด์ พริวเลจ คาร์ด จำกัด บริษัท ในเครือ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.

6.บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

7.บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟท.)

8.บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด หรือ NBN

9.บริษัท บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด หรือ NGDC