กรมสุขภาพจิต พบผู้ประสบภัยน้ำท่วมใต้ เครียดจัด ซึมเศร้า 110 คน

04 ธ.ค. 2560 | 08:48 น.
กรมสุขภาพจิต ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทเยียวยาใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมใต้วันละไม่ต่ำกว่า 50 ทีม ในรอบ 8 วัน เยียวยาไปแล้วกว่า 12,000 คน ผลการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตในกลุ่มเสี่ยงอาทิครอบครัวผู้เสียชีวิต บ้านที่ถูกน้ำท่วมหนัก พบผู้มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เครียดจัด ซึมเศร้า จำนวน 110 คน พร้อมแนะให้ครอบครัวดูแลสุขภาพจิตเด็กเล็ก ให้เล่นตุ๊กตา วาดภาพ จะช่วยให้เด็กระบายความรู้สึกผ่อนคลายความเครียดได้ดี และให้ผู้ใหญ่สังเกตพฤติกรรมที่เป็นสัญญานเตือนว่าเด็กมีความเครียด เช่นงอแงกว่าเดิม ฉี่รดที่นอน ดูดนิ้ว ติดผู้ใหญ่ อย่าโมโห ขอให้พูดจากับเด็กอย่างอ่อนโยน

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดบริการดูแลจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ว่า กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ( Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team :MCATT )ออกให้บริการร่วมกับทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทเครือข่าย ของโรงพยาบาล และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย ได้แก่ พัทลุง ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี สงขลา นราธิวาส ยะลา และสตูล ดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยที่มีกว่า 5 แสนคนอย่างต่อเนื่องวันละไม่ต่ำกว่า 50 ทีม ในรอบ 8 วันมานี้ให้การเยียวยาไปแล้ว 12,000 คน และตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเสี่ยงเกิดผลกระทบทางใจรุนแรง เช่นครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้ที่ที่ทำกินหรือครอบครัวถูกน้ำท่วมหนักต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิง ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวเป็นต้น รวม 5,776 คน พบผู้ที่มีความวิตกกังวล นอนไม่หลับ เครียดจัด มีภาวะซึมเศร้า รวม 110 คน หรือประมาณร้อยละ 2 ของกลุ่มสี่ยง ทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.อย่างใกล้ชิด โดยจะมีการติดตามอาการเป็นระยะๆ

“หลังเกิดภัยพิบัติในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ผู้ประสบภัยอาจเกิดอาการคิดอะไรไม่ออก ท้อแท้ หวาดกลัว รู้สึกว่าไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่มีใครจะช่วยได้ ซึ่งจะมีผลต่อร่างกายและจิตใจทำให้นอนไม่หลับ ฝันร้าย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ร้องไห้ง่าย ไม่มีสมาธิ วิตกกังวลอนาคตอย่างมาก อารมณ์หงุดหงิดง่ายกว่าเดิม ถือว่าเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามปกติของผู้ที่เผชิญกับภาวะที่ไม่ปกติ จึงไม่ควรตกใจ และอย่าพึ่งหมดหวัง ขอให้ผู้ประสบภัยพยายามรวมตัวกัน และพูดคุยรับฟังปัญหาหรือความรู้สึกของกันและกัน ระหว่างผู้ประสบภัยด้วยกัน กับคนในครอบครัว หรือเจ้าหน้าที่ที่ไปให้ความช่วยเหลือหรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เนื่องจากการได้พูดคุย จะเป็นการระบายความอัดอั้นหรือความทุกข์ภายในใจออกมา จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว ด้านแพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จ.สงขลากล่าวว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ นอกจากประชาชนจะต้องระมัดระวังปัญหาอุบัติเหตุการพลัดตกน้ำ จมน้ำ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่แล้ว ครอบครัวควรให้ความใส่ใจกับสุขภาพจิตของเด็กด้วย ซึ่งเด็กจะได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจด้วย เพราะเด็กไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่การแสดงออกของเด็กจะต่างกับผู้ใหญ่ มักจะแสดงออกทางพฤติกรรมเนื่องจากเด็กยังสื่อสารไม่ได้ เช่นบางคนงอแงกว่าเดิม มีพฤติกรรมถดถอยเช่นดูดนิ้ว ปัสสาวะรดที่นอน ลงมือลงเท้าเมื่อไม่ได้ดั่งใจ เด็กจะติดผู้ใหญ่มากขึ้น พฤติกรรมที่เด็กแสดงออกมานี้ถือเป็นสัญญานว่าเด็กมีความเครียด ขอให้ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ อย่ามองเป็นเรื่องไร้สาระ อย่าโมโห ให้รีบแก้ไขโดยให้เวลาอยู่ใกล้ชิดเด็กมากขึ้น ยอมให้เด็กพึ่งพิงมากกว่าเคย เช่น อยู่ใกล้ๆ สัมผัสโอบกอดเด็กบ่อยๆ พูดกับเด็กอย่างอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจเด็ก จะช่วยให้เด็กสบายใจขึ้นและลดความหวาดกลัวลง

นอกจากนี้ควรให้เด็กดำเนินชีวิตประจำวันเหมือนปกติ ทั้งการเข้านอน ตื่นนอน การรับประทานอาหาร การเล่น ซึ่งการเล่นนั้นมีความสำคัญและมีผลในการลดความเครียดให้เด็ก เช่นให้เล่นกับกลุ่มเด็กด้วยกัน ให้วาดภาพระบายสี หรือให้เล่นตุ๊กตา จะทำให้เด็กได้ระบายความรู้สึกออกมาผ่านภาพที่วาดหรือจากเนื้อเรื่องที่เด็กเล่นกับตุ๊กตาได้อย่างดี ประการสำคัญผู้ใหญ่ต้องให้ความมั่นใจอยู่เสมอว่าเด็กปลอดภัยแล้ว และผู้ใหญ่จะคอยอยู่ใกล้ชิด คอยช่วยเหลืออยู่เสมอ และหากพบว่าเด็กยังคงมีปัญหาเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ไม่ควรใช้วิธีลงโทษเด็ก ควรใช้วิธีปลอบโยน และพาไปพบจิตแพทย์เพื่อช่วยเหลือทางจิตใจต่อไป วิทยุพลังงาน