ทีโอที มั่นใจ ทำตามมติ กสทช. อย่างเคร่งครัด

30 พ.ย. 2560 | 07:55 น.
ทีโอที  มั่นใจ ทำตามมติ กสทช. อย่างเคร่งครัด ปรับปรุงเทคโนโลยีบนคลื่น 2300 MHz เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 609253992 นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยถึงผลการชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในคลื่นความถี่ 2300 MHz เมื่อวันจันทร์ที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อ 29 ต.ค. 58 กสทช. มีมติอนุญาตให้ บมจ.ทีโอที ปรับปรุงเทคโนโลยีบนคลื่น 2300 MHz เพี่อให้บริการ เสียง ข้อมูล และพหุสื่อ โดยใช้เทคโนโลยี LTE และใช้งานได้ทั่วประเทศ ตามประกาศ กทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการ Broadband Wireless Access (BWA) ย่านความถี่วิทยุ 2300 – 2400 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)

ต่อมาเมื่อ 25 เม.ย. 59 กสทช. ได้แจ้งเพิ่มเติมมายัง บมจ.ทีโอที ว่ามติดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้ บมจ.ทีโอที นำคลื่น 2300 MHz ไปให้บริการได้ทั้งประเภท Fixed Wireless Broadband และ Mobile Broadband ซึ่งแผน BWA ดังกล่าวระบุให้ บมจ.ทีโอที ใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ (Neutral Technology) ตามข้อเสนอแนะของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU-R Recommendations) โดยเอกสาร F1399.1 ของมาตรฐาน ITU-R ได้ให้คำอธิบายว่า Broadband Wireless Access (BWA) คือการเชื่อมต่อไร้สายที่มีความเร็วสูงกว่า 2 Mbps ซึ่งเป็นไปได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) Fixed Wireless Access (FWA) คือ การเชื่อมต่อไร้สายแบบประจำที่ (2) Mobile Wireless Access (MWA) คือ การเชื่อมต่อไร้สายแบบเคลื่อนที่ และ (3) Nomadic Wireless Access (NWA) คือ การเชื่อมต่อไร้สายแบบกึ่งเคลื่อนที่ ซึ่ง บมจ.ทีโอที ได้ปฏิบัติตามมติ กสทช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ส่วนรูปแบบธุรกิจนั้น ทีโอที จะเช่าอุปกรณ์เพื่อให้บริการโทรคมนาคมบนคลื่นความถี่ 2300 MHz จากคู่ค้าและนำคลื่นความถี่ 2300 MHz มาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ดังกล่าว จากนั้น จึงนำความจุโครงข่ายที่ได้มาดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง (โดยแบ่งเป็นความจุเป็นร้อยละ 40:60) ทั้งนี้ ตามแผนธุรกิจความจุโครงข่ายร้อยละ 40 จะถูกแบ่งเป็น 2 บริการ คือ (1) บริการ Mobile Broadband (MBB) ร้อยละ 20 เพื่อนำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงให้บริการกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โครงข่ายเสมือน (MVNO) และ (2) บริการ Fixed Wireless Broadband (FWB) อีกร้อยละ 20 เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าบรอดแบนด์ของ ทีโอที และตอบสนองการดำเนินงานตามนโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) ของรัฐบาลปัจจุบัน ส่วนความจุอีกร้อยละ 60 ทีโอที จะนำไปให้บริการร่วมกับพันธมิตรคู่ค้าในรูปแบบบริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Roaming) หรือขายส่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โครงข่ายเสมือน (MVNO) ซึ่งเป็นรูปแบบของการให้บริการที่เป็นไปตามประกาศ กสทช. เช่นเดียวกับการให้บริการร่วมกับพันธมิตรคู่ค้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นในปัจจุบัน โดยในขั้นตอนก่อนที่จะได้ดีแทคมาเป็นคู่ค้านั้น ทีโอที ได้เปิดกว้างให้ผู้สนใจมายื่นข้อเสนอ ซึ่งในขณะนั้น เมื่อ มี.ค. 60 ก็ได้มีผู้สนใจมายื่นข้อเสนอ 6 รายรวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันทั้ง 3 รายด้วย

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวต่อว่า ทีโอที ได้ส่งร่างสัญญาธุรกิจกับคู่ค้าไปยัง กสทช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นการดำเนินงานของ ทีโอที สอดคล้องกับมาตรา 46 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรฯ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 60 ซึ่ง ทีโอที เข้าใจว่า กสทช. มีกระบวนการในการพิจารณาให้รอบคอบบนพื้นฐานของการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ทีโอที ต้องขอขอบคุณ กสทช. ที่ได้ให้การสนับสนุนเห็นชอบแผนการปรับปรุงการใช้งานคลื่น 2300 MHz มาตั้งแต่ต้น ซึ่ง ทีโอที มั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามมติ กสทช. ทั้งหมดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด