‘ภาษีกองตราสารหนี้’กระทบ แผนพัฒนาตลาดทุนสะดุด นักลงทุนกลับซบแบงก์

30 พ.ย. 2560 | 23:00 น.
วงการตลาดทุนยํ้ารัฐเก็บภาษีลงทุนกองทุนตราสารหนี้ได้ไม่คุ้มเสีย บั่นทอนแหล่งกระจายความเสี่ยงนักลงทุน สกัดแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ด้านบลจ.ภัทรฯเผยนักลงทุนดิ้นซบตราสารหนี้นอกคึก

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวว่า การเก็บภาษีจากการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ของรัฐบาลในครั้งนี้ อาจจะไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้น เพราะนอกจากบั่นทอนแหล่งกระจายความเสี่ยงของนักลงทุนแล้ว ยังเป็นการสกัดกั้นแผนการพัฒนาตลาดทุนไทยและสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชนในหลายด้าน ซึ่งเชื่อว่าการที่ภาครัฐคาดหวังเม็ดเงินที่จะเข้ามา 3,000 ล้านบาทอาจจะเป็นเม็ดเงินที่ไม่คุ้มค่า

นอกจากนี้ยังเป็นการกดดันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระบบให้อยู่ในระดับตํ่า เพราะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในขณะนี้อยู่ในระดับสูงมาก การเก็บภาษีดังกล่าวหนุนให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยหันมาฝากเงินกับธนาคารเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารต้องปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงเพื่อลดภาระ

[caption id="attachment_236221" align="aligncenter" width="503"] ยุทธพล ลาภละมูล ยุทธพล ลาภละมูล[/caption]

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนผลกระทบทางอ้อมจะเป็นการลดแหล่งเงินลงทุนให้กับธุรกิจไทย การเก็บภาษีดังกล่าว ทำให้นักลงทุนสถาบันไม่อยากเข้าไปลงทุน เพราะทำผลตอบแทนให้กับนักลงทุนน้อยไม่คุ้ม ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนสถาบันถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของตลาดตราสารหนี้ ดังนั้นการไม่มีผู้เล่นรายใหญ่ ธุรกิจที่ต้องการเงินไปหมุนเวียนก็เกิดความลำบาก ต้องหันไปขอสินเชื่อกับธนาคารแทน ซึ่งธนาคารก็มีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสียผลกระทบนี้ส่งผลไปถึงเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ในฝั่งของตลาดทุนก็เสียโอกาสในการลงทุน เพราะหากธุรกิจขอสินเชื่อไม่ได้ก็จะพากันไปออกตราสารหนี้นอกประเทศมากขึ้น ทำให้นักลงทุนในประเทศเสียโอกาสมาก ขณะที่กองทุนรวมทั้งระบบมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ4.9 ล้านล้านบาท โดยมีเงินลงทุนในกองทุนตราสารหนี้มากกว่าครึ่ง

นายรัฐพล ขัตติยะสุวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายจัดการลงทุน บริหารกองทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทยฯ กล่าวว่า การเก็บภาษีจากการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ในอัตรา 15% นั้น ยังไม่มีรายละเอียด ซึ่งกรมสรรพากรเพิ่งเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) โดยมองว่าหากเก็บภาษีอาจทำให้เม็ดเงินโยกออกจากตราสารหนี้ส่วนหนึ่งกลับไปฝากธนาคารหรืออาจไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ทำให้รัฐเก็บภาษี้เพิ่มขึ้นไม่ได้อย่างคาด

สำหรับผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ อาจทำให้บางกองทุนไม่น่าสนใจซึ่งต้องเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากที่นักลงทุนได้รับ อย่างกองทุนเปิดทหารไทยธนเพิ่มพูนซึ่งความเสี่ยงไม่สูงมีอายุเฉลี่ยของตราสารประมาณ 6 เดือน ทำให้นักลงทุนใช้เป็นแหล่งพักเงินฝาก ปัจจุบันมีขนาดกองทุนกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท โดยลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ 60%และตราสารหนี้ในประเทศ 40% ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ 1.8% หากในอนาคตถูกเก็บภาษีผลตอบแทนจะหายไป0.27%นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทน 1.53%

ส่วนกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ ลงทุนคล้ายกัน แต่อายุเฉลี่ยของตราสารประมาณ 2 ปี ปัจจุบันมีขนาดกองทุน 5.1 หมื่นล้านบาทผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 3%หากถูกเก็บภาษีผลตอบแทนจะลดลง 0.45% เหลือ 2.55%
ด้านนายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการบลจ.ภัทรฯ บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักลงทุนไทยยังคงมองหาการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเป็นทางเลือกและสร้างโอกาสจากผลตอบแทนที่หลากหลาย โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับตํ่า สะท้อนได้จากกองทุนเปิดภัทร โกลบอล อันคอนสเตรนด์บอนด์เฮดจ์ (PHATRA G-UBOND-H) เสนอขายครั้งแรก (ไอพีโอ) วันที่ 9-21 พฤศจิกายน 2560ปิดยอดขายครั้งแรกได้มากกว่า 3,300 ล้านบาท

บาร์ไลน์ฐาน ทั้งนี้ จุดเด่นของกองทุนมีนโยบายการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นสูงไม่มีกรอบข้อจำกัดในการลงทุนสามารถกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้ได้ทั่วโลก

ผ่านกองทุนหลักในต่างประเทศ JupiterGlobalFund-Jupiter Dynamic Bond

“แม้สภาวะตลาดโดยรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น การกระจายเงินลงทุนบางส่วนมายังตราสารหนี้คุณภาพทั่วโลกน่าสนใจการกระจายลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมในตราสารหนี้ของประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่มีเสถียรภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี รวมถึงตราสารหนี้ไฮยีลด์บอนด์ ที่ผ่านการคัดกรองคุณภาพเครดิต จะช่วยเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้”นายยุทธพลกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว