ผลงานพลังงานรอบปี แก้4ปมร้อนพร้อมเดินหน้า5แผนแม่บท

01 ม.ค. 2559 | 02:00 น.
นับตั้งแต่ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาบริหารบ้านเมืองเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันที่มีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ต่อจากนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ก็สามารถเดินหน้าสานต่อนโยบายหลายด้านได้สำเร็จลุล่วง

[caption id="attachment_23991" align="aligncenter" width="503"] ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้เชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้า ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้เชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้า[/caption]

โดยพล.อ.อนันตพร ชี้ให้เห็นว่าก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารประเทศมีโจทย์ใหญ่ที่จะต้องเข้ามาแก้ไขใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ โครงสร้างราคาที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม การส่งเสริมพลังงานทดแทนเกิดการหยุดชะงัก สภาพการผูกขาดของกิจการพลังงาน และประเทศขาดแผนพลังงานในภาพรวม ซึ่งตลอด 1 ปี ( 12 ก.ย.57-15 ธ.ค.58) ก็สามารถเข้ามาแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ

ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน

สำหรับการขจัดปัญหาราคาพลังงานที่ถูกบิดเบือนมาหลายยุคหลายสมัยจึงนับว่าเป็นนโยบายแรกๆที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจำเป็นต้องแก้ไขให้สำเร็จ โดยจะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ได้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินสะสมของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีกว่า 7 พันล้านบาท ได้ทยอยลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ตามหลักการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เห็นชอบ ทำให้สามารถสะสางหนี้กองทุนจนหมด และมีเงินกองทุนสะสมมากถึงกว่า 4 หมื่นล้านบาท

ในขณะที่การประกาศลอยตัวราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีเสียงคัดค้านบ้าง เพราะหวั่นกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย ประกอบกับในช่วงภาระเศรษฐกิจซบเซา แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ล้มเลิกนโยบายดังกล่าว โดยทยอยปรับราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล ให้ลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมีนโยบายเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละประเภทในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ตามค่าความร้อน

โดยปัจจุบันโครงสร้างราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่เป็นธรรม ไม่มีการอุดหนุนข้ามภาคเหมือนก่อนที่จะเรียกเก็บเงินจากน้ำมันเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อไปอุดหนุนราคาดีเซลและก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) แต่ขณะนี้ราคาพลังงานอยู่ในอัตราลอยตัว ประกอบกับปลายปี 2557 ราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงอย่างมาก จากที่เคยยืนที่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ตกลงมาอยู่ที่ระดับ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้นโยบายลอยตัวราคาพลังงานทำได้ง่ายขึ้น

สำหรับการลอยตัวราคาแอลพีจี แม้ว่าจะยังไม่ได้ลอยตัวทุกภาคส่วน แต่ก็นับว่าประสบความสำเร็จไปแล้ว ยังคงเหลือเพียงการอุดหนุนราคาแอลพีจีในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มหาบเร่ แผงลอยเท่านั้นที่ยังใช้แอลพีจีราคาเดิมที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนกลุ่มอื่นใช้ในราคาแอลพีจีเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักสะท้อนต้นทุนการจัดหาก๊าซแอลพีจีของประเทศ โดยคำนวณจาก 3 แหล่ง คือ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน และราคาน้ำเข้า ส่งผลให้ราคาแอลพีจีเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ 22.29 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนการลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) นับว่ายังเป็นการลอยตัวราคาพลังงานที่ยังคั่งค้าง แม้จะทยอยปรับราคาขายปลีกที่ 13.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่ 14-14.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งกระทรวงพลังงานแจงว่าแนวโน้มต้นทุนเอ็นจีวีจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 14 บาทในช่วงต้นปี 2559 ดังนั้นอาจฉวยจังหวะในช่วงนั้นปรับราคาขายปลีกขึ้นอีก 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม เพื่อสะท้อนต้นทุน

ปลดล็อกอุปสรรคพลังงานทดแทน

ขณะที่การส่งเสริมพลังงานทดแทนนั้น กระทรวงพลังงานได้ปลดล็อกอุปสรรคหลายเรื่อง โดยมีการผลักดันการแก้กฎระเบียบและกระบวนการออกใบอนุญาตให้มีความรวดเร็วขึ้น อาทิ การออกใบอนุญาตตามกฎหมายโรงงาน (รง.4) การอนุมัติให้มีการอนุโลมย้ายสถานที่ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มกรณีที่มีปัญหาเรื่องสายส่ง ทำให้สามารถอนุมัติโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจำนวน 269 โครงการ รวม 1.59 พันเมกะวัตต์ นอกจากนี้โครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารและบ้านพักอาศัย(โซลาร์รูฟท็อป) ที่ไม่ต้องขอ รง.4ยังได้ดำเนินการปลดล็อกอุปสรรคการส่งเสริมพลังงานทดแทน

ส่วนการลดการผูกขาดของกิจการพลังงานนั้น ได้ดำเนินการโดยให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลดการถือหุ้นในโรงกลั่นของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) รวมถึงโรงกลั่นเอสพีอาร์ซี ลงมาด้วย พร้อมทั้งจัดระบบ Third Party Access ให้ท่อก๊าซธรรมชาติเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ เข้ามาแข่งขันได้ เป็นต้น

ทำ 5 แผนแม่บทพลังงาน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวทั้ง 5 แผน ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านพลังงานให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 20 ปี(2558-2579) จะเน้นกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ลดสัดส่วนก๊าซธรรมชาติจาก 64% เหลือ 30-40% และเพิ่มถ่านหิน จาก 20-25% ในปี 2579 นอกจากนี้ยังเพิ่มสัดส่วนรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำต่างประเทศเพิ่มขึ้น จาก 7% เป็น 15-20% และพลังงานหมุนเวียน เพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 15-20%

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งได้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 1.96 หมื่นเมกะวัตต์ ภายในปี 2579 จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.49 พันเมกะวัตต์ รวมทั้งจะมีการส่งเสริมไบโอดีเซลเป็น 14 ล้านลิตรต่อวัน และเอทานอล11.3 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2579

แผนอนุรักษ์พลังงาน(EEDP) โดยเน้นการอนุรักษ์พลังงานใน 4 ภาคเศรษฐกิจ ได้แก่ บ้านที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม อาคารธุรกิจ ซึ่งตั้งเป้าปี 2579 จะสามารถลดการใช้ไฟฟ้ารวมได้ทั้งสิ้น 8.96 หมื่นล้านหน่วย

แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในแผนจะเน้นการยืดอายุก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย นอกจากนี้การบริหารจัดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ให้มีการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต โดยเพิ่มผู้จัดหาและจำหน่าย การเปิดให้บุคคลที่ 3 สามารถใช้หรือเชื่อมต่อระบบก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจี (Third Party Access; TPA) และกำกับดูแลการจัดหาในแอลเอ็นจีในระยะสั้นและระยะยาวแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อกำหนดทิศทางการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ระบุภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งและแผนพลังงานทดแทนฯ อาทิ ทยอยปรับลดประเภทน้ำมันเบนซินในระยะยาวที่ควรมีเหลือไม่เกิน 3 ประเภท ,การส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ เอ็นจีวี สำหรับรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น

เปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21

ส่วนการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21นั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเพิ่มเติมบางประเด็นในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อส่งต่อไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แต่ก็นับว่าเป็นผลงานของกระทรวงพลังงานที่มีความคืบหน้าอย่างมาก เนื่องจากคาดว่ากระบวนการพิจารณาจะเสร็จสิ้นภายใน 4 เดือนข้างหน้า โดยจะสามารถเปิดสัมปทานรอบ 21 ได้ภายในเดือนเมษายน 2559

โดยในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้บรรจุระบบแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) ตามที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานเรียกร้องเข้าไปแล้ว โดยจะใช้ในแปลงปิโตรเลียมในอ่าวไทย G3 G5 และ G6 เนื่องจากทั้ง 3 แปลงเคยมีการสำรวจและพบศักยภาพแล้ว ซึ่งยังคงเชื่อว่านักลงทุนจะยังมีความมั่นใจที่จะเข้ามายื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ(ดูไบ)ที่ปรับตัวลง อยู่ที่ระดับกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่จะส่งผลดีในช่วงสำรวจ เนื่องจากต้นทุนอุปกรณ์ต่ำลงและหาง่าย

แผนลงทุนท่อส่งน้ำมันเหนือ-อีสาน

นอกจากนี้โครงการลงทุนท่อขนส่งน้ำมันเส้นเหนือ(บางปะอิน-ลำปาง) และท่อขนส่งน้ำมันเส้นตะวันออกเฉียงเหนือ(สระบุรี-ขอนแก่น) ปัจจุบันท่อขนส่งน้ำมันเส้นเหนือได้ลงนามสัญญาขยายระบบท่อกับทางบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (เอฟพีที) แล้ว และกำลังอยู่ระหว่างสรุปโครงการลงทุนท่อจนส่งน้ำมันเส้นอีสานต่อไป คาดจะมีความชัดจนต้นปีหน้า โดยโครงการดังกล่าวเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำมัน รวมทั้งประชาชนจะได้ประโยชน์จากราคาขายปลีกน้ำมันที่ถูกลง

ทั้งหมดนี้ถือเป็นผลงานของกระทรวงพลังงานที่มีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะการตัดสินใจปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่บิดเบือนมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาแทบไม่มีรัฐบาลไหนกล้าแตะ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการรักษาฐานคะแนนเสียง อีกทั้งจังหวะราคาพลังงานในตลาดโลกขาขึ้นทำให้ไม่เอื้อต่อการขยับราคาตามราคาตลาดโลก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,117 วันที่ 27 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558