1 ปีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ไฟเขียวใบอนุญาตโรงงาน4 ยอดตั้งโรงงาน 1 ล้านล้าน!

01 ม.ค. 2559 | 03:00 น.
กระทรวงอุตสาหกรรมถือเป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา ได้ผ่านการบริหารงานของนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และส่งไม้ต่อมายังดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อมาดูแลการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ไปจนถึงการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงการออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน ตลอดจนการควบคุมดูแลโรงงานไม่ให้มีการปล่อยมลพิษ เป็นต้น

[caption id="attachment_23994" align="aligncenter" width="503"] โรงงานที่ยังไม่แจ้งประกอบ ขยายตั้งแต่ 1 ม.ค. 57 24 ธ.ค. 58 โรงงานที่ยังไม่แจ้งประกอบ ขยายตั้งแต่ 1 ม.ค. 57 24 ธ.ค. 58[/caption]

เน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

โดยผลงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.อรรชกา ชี้ให้เห็นว่า ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ที่ได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาสินค้า 1 ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบลหรือโอท็อป และวิสาหกิจชุมชน โดยสามารถเข้าไปสร้างทายาทวิสาหกิจได้จำนวน 294 ราย เกิดการจัดตั้งหรือขยายธุรกิจได้จำนวน 170 ราย ทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนได้ถึง 45 ล้านบาท และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจ้างงาน 36.72 ล้านบาท

พร้อมได้เข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ 1.053 พันผลิตภัณฑ์ พัฒนาผู้ประกอบการได้ 2.66 พันคน ส่งผลให้มีมูลค่ายอดขยาย 315 ล้านบาท ลดต้นทุนได้ 84 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้นำผู้ประกอบการไปทดสอบตลาดภายในประเทศจำนวน 12 ครั้ง สร้างรายได้ 215 ล้านบาท

ปรับโครงสร้างอุตฯใหม่

ส่วนที่ 2 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม ได้มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศใหม่ โดยมีการกำหนด 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตขึ้นมา พร้อมด้วยนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ผ่านการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการต่างๆ ที่จะมีการผลักดันให้เกิดการลงทุนใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปีหน้าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

ขณะที่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีนั้น ได้เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ ขึ้นมาจำนวน 1.596 พันราย ช่วยสร้างสังคมผู้ประกอบการได้ 900 ราย สร้างมูลค่าการลงทุน 760 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานโดยรวมได้ 2.6 พันคน อีกทั้ง ยังสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ 154 กิจการ เพิ่มผลิตภาพได้ 1.931 พันกิจการ พัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมได้ 65 กิจการ สามารถพัฒนาผู้ประกอบการได้ 6.763 ราย และพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ได้ 400 กิจการ ซึ่งช่วยให้มีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้น 2.55 พันล้านบาท ลดต้นทุนได้ 1.9 พันล้านบาท และลดของเสียได้ 1 พันล้านบาท และยังได้พัฒนาเอสเอ็มอี เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรม 850 กิจการใน 5.828 พันราย คิดเป็นมูลค่า 410 ล้านบาท ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจโดยรวมได้ 6.62 พันล้านบาท

อนุมัติ รง.น้ำตาลลงทุนแสนล้าน

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มีการปรับโครงสร้างและยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ เพื่อดำเนินการในอีก 11 ปีข้างหน้า(2558-2569) โดยจะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 10.53 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ จะเพิ่มผลผลิตอ้อยจาก 105.96 ล้านตัน เป็น 180 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายจาก 11.34 ล้านตัน เพิ่มเป็น 20.36 ล้านตัน ผลิตเอทานอลจาก 2.5 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 5.38 ลิตรต่อวัน สามารถนำชานอ้อยมาผลิตไฟฟ้าจาก 1.542 พันเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 4 พันเมกะวัตต์ จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจจาก 2 แสนล้านบาท เป็น 5 แสนล้านบาท ภายในปี 2569

ที่สำคัญในช่วงปีที่ผ่านมาได้มีผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายเดิมได้ขอขยายกำลังการผลิตเข้ามาจำนวน 17 ราย ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นประมาณ 2.38 ล้านไร่ ซึ่งจะเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี2559เป็นต้นไป โดยจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ประกอบกับในเร็วๆ นี้ จะมีการอนุมัติการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายขึ้นมาใหม่อีกประมาณ 12 แห่ง มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 2.4 ล้านไร่ โดยจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_23996" align="aligncenter" width="503"] การออกใบอนุญาติประกอบ/ขยายและโรงงานที่เริ่มประกอบการตั้งแต่ 1 ม.ค. 57 24 ธ.ค. 58 การออกใบอนุญาติประกอบ/ขยายและโรงงานที่เริ่มประกอบการตั้งแต่ 1 ม.ค. 57 24 ธ.ค. 58[/caption]

ไฟเขียว รง.4 เม็ดเงินลงทุนสะพัด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนที่ 3 จะเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา ได้ลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงาน(รง.) 4 จากเดิม 90 เหลือเพียง 30 วัน ทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้นส่งผลดีกับผู้ประกอบการ ทำให้มีโรงงานที่ได้รับรง.4 จำนวน 9.598 พันราย มูลค่าเงินลงทุน 1.056 ล้านล้านบาท

ขณะที่การลดขั้นตอออกประทานบัตรเหมืองแร่ อาชญาบัตรสำรวจแร่ ได้มีการปรับปรุงระเบียบและขั้นตอนที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้สามารถออกใบอนุญาตต่างๆ ได้รวม 154 ใบ ก่อให้เกิดรายได้เข้ารัฐ 3.7 พันล้านบาท และมีเม็ดเงินลงทุนสำหรับการสำรวจแร่อีก 1.6 พันล้านบาท รวมถึงการลดขั้นตอนในการออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) ลงมา 15-26 วัน ทำให้มีการออกใบรับรองมอก.ไปแล้วจำนวน 6.217 พันฉบับ

อีกทั้ง การแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ได้มีการยกเลิกบัญชีท้ายกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมือง/ชุมชน/และจัดทำข้อกำหนดที่มีลักษณะยืดหยุ่นใน 51 จังหวัด ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น

จี้นำกากอุตฯเข้าระบบ

ส่วนสุดท้ายนั้น จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดร.อรรชกา ยืนยันว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในส่วนนี้ค่อนข้างมาก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการจัดทำแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม 258-2562 ที่จะเร่งรัดให้โรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6.8 หมื่นโรง นำกากเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90 % โดยในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า มีโรงงานที่นำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบแล้วจำนวน 5.1605 หมื่นโรงงาน คิดเป็น 75.6 % ของโรงงานทั้งหมด แบ่งเป็นกากอันตราย 1.3 ล้านตัน และกากไม่อันตราย 25.75 ล้านตัน

นอกจากนี้ ยังได้นำระบบจีพีเอส มาติดตั้งกับรถขนส่งกากอันตราย จำนวนประมาณ 3.3 พันคัน เพื่อเป็นการติดตามรถขนส่งไม่ให้นำกากไปทิ้งนอกพ้นที่เป้าหมาย ซึ่งจะเริ่มทดสอบในเดือนมกราคมปีหน้า และคาดว่าจะสามารถใช้บังคับได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559

ทั้งนี้ จากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าไปเข้มงวดกับโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม และมีโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ในรอบปีที่ผ่านมาสามารถระงับการให้บริการโรงงานผู้รับกำจัดกากได้ 103 ราย และระงับการให้บริการบางส่วนจำนวน 23 ราย ส่วนโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากที่ทำผิด สามารถจับกุมนำมาดำเนินคดีได้ 176 ราย

อีกทั้ง กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ยังได้ศึกษาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมไว้ 6 แห่ง ใน 6 ภูมิภาค ใน 15 จังหวัด ซึ่งได้ส่งผลการศึกษาให้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ไปแล้ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการในการตัดสินใจที่จะลงทุนของภาคเอกชนต่อไป รวมถึงขณะนี้กรอ.อยู่ระหว่างการหาเอกชน ที่จะมาผู้ร่วมทุนกับเอกชนของทางญี่ปุ่น เพื่อมาลงทุนสร้างเตาเผาขนาด 500 ตันต่อวัน มูลค่าลงทุนราว 1.8 พันล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าในช่วงกลางเดือนมกราคมปีหน้า น่าจะสามารถคัดเลือกผู้สนใจได้

ทั้งหมดนี้ ถือเป็นผลงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในรอบปีที่ผ่านมา โดยดร.อรรชกา ได้ทิ้งท้ายถึงผลงานที่เกิดขึ้นว่า ตัวเองมีความพอใจ หากคะแนนเต็ม 10 ผลงานที่ออกมาก็คงให้ที่ 9 คะแนน ส่วนอีก 1 คะแนนนั้น คงต้องไปแก้ไขเรื่องการร้องเรียนต่างๆ เพราะในแต่ละปีมีการร้องเรียนเก็บกับโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,117 วันที่ 27 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558