สนง.บริหารหนี้มั่นใจรถไฟไทย-จีน ดันหนี้สาธารณะไม่เกิน50%

03 ม.ค. 2559 | 07:00 น.
สบน. มั่นใจโครงการลงทุนรถไฟไทย-จีนฯ ไม่กระทบหนี้สาธารณะระยะ 5-7 ปี เชื่อสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีไม่เกิน 50% ชี้ประโยชน์จากโครงการร่วมทุน PPP ช่วยลดการก่อหนี้ในประเทศ ตัวเลข ณ เดือน ต.ค.ยังแตะ 43.80% พร้อมมอนิเตอร์แผนบริหารเงินกู้ต่อไตรมาสเฉลี่ย 6-7 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_24082" align="aligncenter" width="503"] สถานะหนี้สาธ่รณะคงค้างเดือนตุลาคม 2558 สถานะหนี้สาธ่รณะคงค้างเดือนตุลาคม 2558[/caption]

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่าหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2558 เท่ากับ 5.86 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ในประเทศ 5.51ล้านล้านบาท หรือ 93.99% และหนี้ต่างประเทศ 3.52 แสนล้านบาท (ประมาณ 10,106.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือเท่ากับ 6.01% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 1.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ 30 ตุลาคม 2558) หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6.38% ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ โดยหนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวถึง 5.62 ล้านล้านบาท หรือ 95.93% และมีหนี้ระยะสั้น 2.38 แสนล้านบาท หรือ 4.07% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะคงค้างจำนวน 5.86 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 43.80% ของจีดีพีเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 8.40 หมื่นล้านบาท ในการนี้ สบน. ได้ปรับตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีสิ้นเดือนกันยายนจาก 42.99% ตามที่ได้แถลงข่าวไปในเดือนพฤศจิกายน เป็น 43.26% เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประกาศตัวเลข จีดีพีไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 เท่ากับ 13.36 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะสิ้นเดือนตุลาคมที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากหนี้ของรัฐบาล มีหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น 9.85 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 9.90 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงต้นปีงบประมาณที่ต้องเร่งรัดเบิกจ่ายตามนโยบายรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นช่วงที่ไม่ใช่ฤดูภาษีที่จะมีภาษีรายการใหญ่ๆ เข้าในช่วงนี้ด้วย จึงต้องกู้เงินเพื่อบริหารเงินคงคลัง โดยเฉลี่ยตามแผนกู้เงินของ สบน. จะมีการประเมิน (มอนิเตอร์) วงเงินกู้ในรูปกระแสเงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรายวันเพื่อรองรับแผนการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งงบประจำและงบลงทุน เฉลี่ยแล้วต่อไตรมาสจะมีการกู้เฉลี่ย 6-7 หมื่นล้านบาท หรือสูงสุดที่ 8 หมื่นล้านบาท ดังนั้นวงเงินกู้ขึ้นอยู่กับรอบการใช้งบประมาณ หากช่วงไหนต้องการกระตุ้นการเบิกจ่ายย่อมมีความจำเป็นที่อาจต้องกู้วงเงินในอัตราเร่ง

สำหรับโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน ประเมินว่าทั้งปีนี้น่าจะเบิกจ่ายได้ 3.80 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเดิมที่คาดว่าจะเบิกจ่ายแค่ 3-3.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ให้ขยายตัวได้ดีขึ้น ทั้งนี้หากเป็นโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าสูงและเป็นโครงการระยะยาว โครงการดังกล่าวได้ถูกบรรจุไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะแล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการร่วมทุน (PPP) ก็มีโอกาสทำให้หนี้สาธารณะปี 2560 ปรับตัวลดลงจากปีงบประมาณ 2559 หากรัฐสามารถกระตุ้นให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนได้ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขงบประมาณขาดดุลที่เดิมกำหนดไว้ที่ 3.9 แสนล้านบาท และในปีงบประมาณ 2560 ตัวเลขงบประมาณขาดดุลอาจลดลง

"จากการประเมินแม้จะมีโครงการขนาดใหญ่ อาทิ เส้นทางรถไฟไทย-จีนฯ ใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 5-7 ปีนั้น จะไม่ทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะไม่เกินกว่าระดับ 50% แต่ถึงแม้หนี้สาธารณะจะเกิน 50% ก็ไม่ถือเป็นปัญหา ในทางกลับกันกลับทำให้ประเทศเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,117 วันที่ 27 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558