โรงงานสวีเดน เผาเสื้อผ้า H&M ผลิตไฟฟ้า

03 ธ.ค. 2560 | 09:50 น.
สวีเดนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากกับการนำขยะมาเข้าสู่กระบวนการเผาเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า จนกระทั่งปริมาณขยะในประเทศมีไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าขยะจากต่างประเทศมาใช้เพื่อการนี้ อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายเป็นยุทธศาสตร์ด้านพลังงานระดับชาติว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สวีเดนจะเลิกผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นนํ้ามัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน

[caption id="attachment_236015" align="aligncenter" width="503"] ผู้บริหารของมาลาร์เอ็นเนอร์ยี ถ่ายภาพกับขยะส่วนหนึ่งที่ต้องนำเข้ามาจาก ประเทศไอร์แลนด์ ผู้บริหารของมาลาร์เอ็นเนอร์ยี ถ่ายภาพกับขยะส่วนหนึ่งที่ต้องนำเข้ามาจาก ประเทศไอร์แลนด์[/caption]

ยกตัวอย่างโรงงานไฟฟ้า มาลาร์เอ็นเนอร์ยี ในเมืองวาสเทอราส ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงสตอกโฮล์ม ทางโรงงานตั้งเป้าไว้ว่าจะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทุกรูปแบบภายในปีค.ศ. 2020 หรือพ.ศ. 2563 โดยจะหันมาใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นๆทดแทน อาทิ เศษไม้ และขยะซึ่งครอบคลุมถึงเสื้อผ้าเก่าๆที่เจ้าของไม่ใช้อีกต่อไปแล้ว กล่าวกันว่า ในปี 2560 นี้ โรงไฟฟ้ามาลาร์เอ็นเนอร์ยี เผาเสื้อผ้าเก่ายี่ห้อเอชแอนด์เอ็ม (ซึ่งเป็นแบรนด์สัญชาติสวีเดนเช่นกัน และมีนโยบายรับคืนเสื้อผ้าเก่าจากลูกค้าเพื่อนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล) จำนวนถึง 15 ตันแล้ว

นายเจ็นส์ เนเร็น หัวหน้าฝ่ายจัดซื้อเชื้อเพลิง บริษัท มาลาร์เอ็นเนอร์ยีฯ เปิดเผยว่า โรงงานกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงจากเชื้อเพลิงนํ้ามันและถ่านหินมาเป็นทางเลือกใหม่ๆ ที่คนคิดไม่ถึง เช่น เสื้อผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้ว “สำหรับเรา เสื้อผ้าเหล่านี้ก็เป็นเพียงวัตถุที่ติดไฟได้อย่างหนึ่ง เป้าหมายสูงสุดของเราคือการใช้แต่เชื้อเพลิงที่หมุนเวียนนำมาใช้ใหม่ได้เท่านั้น”

[caption id="attachment_236013" align="aligncenter" width="503"] โรงงานมาลาร์เอ็นเนอร์ยี โรงงานมาลาร์เอ็นเนอร์ยี[/caption]

ปัจจุบัน นอกจากขยะแล้ว สวีเดนยังเป็นประเทศที่ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม นิวเคลียร์ หรือพลังงานนํ้า โรงงานไฟฟ้าเก่าๆ หลายแห่งถูกปรับปรุง-ดัดแปลงระบบให้หันมาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและขยะแทน ผู้บริหารของมาลาร์เอ็นเนอร์ยียอมรับว่าการเผาเสื้อผ้าทำให้หลายคนเข้ามาแสดงความกังวลใจ แต่ทางโรงงานก็ยืนยันว่า จะเผาแต่เสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วเท่านั้น เฉพาะในปี 2560 นี้ ทางโรงงานเผาขยะไปแล้ว 400,000 ตันเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้กับ 150,000 ครัวเรือน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว