แกนนำ 16 ภาคใต้เข้ายื่นหนังสือถึง"บิ๊กตู่"ที่ทำเนียบฯหวังช่วยแก้ราคายางตกต่ำ

21 พ.ย. 2560 | 06:34 น.
นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ชาวสวนยางชายขอบขอพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแค่ 5 นาที เนื่องจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างผิดปกติในขณะนี้จนนำไปสู่วิกฤตยางพาราไทย   ซึ่งในวันนี้(21พ.ย.60) ตนเองและคณะได้เข้ายื่นหนังสือให้กับตัวแทนรัฐบาลแล้ว โดยข้อเรียกร้องยังคงเหมือนเดิม

แม้นายกรัฐมนตรีจะอ้างว่า สาเหตุที่สำคัญมากจาก ราคาน้ำมันดิบของโลกถูกลง ทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น ประเด็นผลผลิตยางของไทยมีเพิ่มมากขึ้นจากกระแสยางฟีเวอร์ที่ผ่านมา ประเด็นการใช้ยางในประเทศน้อยลงเมื่อเทียบกับผลผลิต และประเด็นความไม่เหมาะสมของพื้นที่ปลูกยาง

yy

"ท่านนายกรัฐมนตรีจะต้องไม่ฟังความข้างเดียวจากข้าราชการที่ปกปิดความผิดของตัวเองด้วยการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และผู้นำที่ดีจะต้องไม่อยากฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคายางพาราตกต่ำ ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวมาข้างต้นก็มีส่วนที่ถูกต้องแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะสาเหตุสำคัญอีกประการนั้นเกิดจากการบริหารงานที่ล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพของการยางแห่งประเทศไทย"

รวมทั้งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การทุบราคายางโดยพ่อค้า โดยเฉพาะในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ปั่นราคายางให้ขึ้นลงเหมือนตลาดหุ้น และนำไปสู่การเคลื่อนไหวของเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าและบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยทบทวนการทำงานและแสดงความรับผิดชอบ

อีกทั้งความเห็นของท่านนายกรัฐมนตรีที่จะให้ลดพื้นที่ปลูกยางในภาคเหนือ ด้วยเหตุผลทางด้านวิชาการที่ผลผลิตน้อยเพียง 143 กิโลเมตรต่อไร่ ก็เป็นการมองมิติเดียว เพราะการทำสวนยางในภาคเหนือช่วยลดปัญหาไฟป่า หากปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อให้เป็นป่ายางในรูปแบบวนเกษตร ก็จะช่วยลดการพังทลายของดิน เพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าการทำไร่ข้าวโพด

yy1

"ยิ่งรัฐบาลนี้ถูกกล่าวหาว่า “เพิ่มอำนาจทุน หนุนอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน” หากมีข้อครหาว่าโค่นยางเพื่อปลูกข้าวโพด จะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้ทุนใหญ่ผูกขาดหรือไม่? สังคมมีสิทธิ์ตั้งคำถามนะครับท่านนายกรัฐมนตรี
ซึ่งนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้พูดคุยกันด้วยเหตุผลบนข้อเท็จจริงที่เปิดเผย ก็อยากกราบเรียนท่านว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤตยางพาราไทยอย่างยั่งยืนนั้น ทางสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ได้พยายามเสนอแนวทางต่อการยางแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด

แต่ไม่ได้รับความร่วมมือและไม่ได้รับการตอบสนอง เช่น ปัญหาชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะมีคำแนะนำให้การยางแห่งประเทศไทยรับขึ้นทะเบียนชาวสวนยางชายขอบเหล่านี้เป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4เพื่อให้สามารถใช้สิทธิตามพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ทาง กยท.ก็เพิกเฉย"

yy2

ส่วนการซับน้ำตาชาวสวนยางด้วยกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4(5)กยท.ก็อ้างว่า ติดขัดข้อกฎหมายทั้งๆ ที่เป็นข้อเสนอจากที่ประชุมเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ประการสำคัญที่สุดคือ สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้พยายามเรียกร้องให้มีกลยุทธ์ในการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 โดยให้บรรจุในยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี

แต่ กยท.ก็ไม่มีความจริงใจและความตั้งใจในการทำ โดยขาดแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน เช่น รูปแบบการเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวเป็นป่ายางที่มีสมดุลนิเวศน์และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การทำเกษตรอินทรีย์ในสวนยางและการทำเกษตรผสมผสานอื่นๆ เพื่อลดต้นทุน สร้างเสริมรายได้ และเสริมสร้างสุขภาวะชาวสวนยาง

yy3

ในการนี้ทางสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นตัวแทนชาวสวนยางชายขอบ อันประกอบด้วย ชาวสวนยางรายย่อย คนกรีดยาง และชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงทำจดหมายเปิดผนึก เพื่อให้ตัวแทนชาวสวนยางชายขอบได้พบท่านนายกรัฐมนตรี โดยขอเวลาเพียงแค่ 5นาที เพราะทราบดีว่าท่านนายกรัฐมนตรีมีภารกิจมากมาย เพื่อพูดคุยและยื่นข้อเสนอ พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตยางพาราไทยอย่างยั่งยืน

e-book